สวัสดีคะ การจัดอันดับรอบแอดมิชชั่นในปี 64 นี้ มีความแตกต่างจาก TCAS ปีก่อนๆ อยู่มากทีเดียวค่ะ หากไปถามรุ่นพี่ รับประกันว่าไม่มีใครตอบคำถามได้แน่นอน เพราะความต่างไม่ได้อยู่แค่การเพิ่มอันดับจาก 4 หรือ 6 อันดับมาเป็น 10 อันดับ แต่ยังมีเรื่องของการรวมเกณฑ์ Admission 1 และ Admission 2 มาไว้ด้วยกัน
ที่เป็นเรื่องใหญ่กว่านั้นก็คือ ความแตกต่างระหว่างเกณฑ์ Admission 1 ที่ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งในบางสถาบันก็ยังไม่มีคะแนนย้อนหลังให้เปรียบเทียบอีกด้วย เมื่อจะนำมารวมใน 10 อันดับของเรา ก็จะเกิดคำถามว่า เลือกคณะนี้ดีมั้ย? ไว้อันดับไหนดี?
วันนี้พี่มิ้นท์จะมาสรุปแนวทางการจัดอันดับไว้ให้แบบเซฟๆ เป็นตัวอย่าง 2 แนวทางจากเคล็ดลับของพี่ๆ Dek-D.com จากรายการเซฟโซน หัวข้อ จัด 10 อันดับแบบไหนให้ปลอดภัย เมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เลยค่ะ (หากใครต้องการดูเพิ่มเติม สามารถดูย้อนหลังได้ที่ คลิก)
การจัดอันดับ Admission แบบที่ 1
รูปแบบแรก เหมาะกับน้องๆ ที่ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นคณะนั้นๆ จะใช้เกณฑ์ไหนในการคัดเลือก แต่ต้องการให้อันดับของตัวเองอยู่ในโซนปลอดภัย ติด 1 ใน 10 อันดับแน่นอน
การจัดอันดับ แบบที่ 1
อันดับ 1 คณะที่อยากเรียนมากๆ
อันดับ 2 คณะที่อยากเรียนมากๆ
อันดับ 3 คณะที่อยากเรียนมากๆ
อันดับ 4 คณะที่อยากเรียนมากๆ
อันดับ 5 คณะที่คาดการณ์ยาก
อันดับ 6 คณะที่คาดการณ์ยาก
อันดับ 7 คณะที่คาดการณ์ยาก
อันดับ 8 คณะเซฟ
อันดับ 9 คณะเซฟ
อันดับ 10 คณะเซฟ
การจะจัดอันดับแบบนี้ น้องๆ จะต้องทำการบ้านเพิ่มเติม คือ ไปแยกกลุ่มคณะในใจ ออกเป็น 3 กลุ่มตามนี้ให้ได้ค่ะ โดยคำนิยามของแต่ละกลุ่ม คือ
- คณะที่อยากเรียนมากๆ ก็คือคณะในฝันของน้องๆ นั่นเอง ไม่ว่าคะแนนจะติดลบ หรือ ไม่มีคะแนนย้อนหลังให้ดู หรือ รู้ตัวว่าโอกาสติดน้อย ก็ขอให้เลือกไปเลยค่ะ อะไรก็เกิดขึ้นได้ หากปีนี้คู่แข่งน้อย อาจจะติดก็ได้นะ
- คณะคาดการณ์ยาก ในทีนี้ ความหมายจะค่อนข้างกว้างค่ะ เพราะปีนี้มีปัจจัยหลายอย่างมากๆ ที่ทำให้คะแนนขึ้นลง ดังนั้น คาดการณ์ยากในที่นี้ จะขอรวมถึง คณะที่รับน้อยมากๆ, คณะที่ไม่มีคะแนนย้อนหลังให้เทียบ และ คณะที่เพิ่งเปิดรับปีแรกหรือเปิดแค่ 1-2 ปี ทำให้คะแนนยังไม่นิ่ง
- คณะเซฟ คือ คณะที่เมื่อเทียบกับคะแนนย้อนหลังแล้ว (สำหรับคณะที่มีคะแนนให้ดู) พบว่าคะแนนเป็นบวก และบวกหลักพันคะแนน 2-3 ปีย้อนหลัง หรือ เป็นคณะที่มีจำนวนรับที่เยอะมากๆ อัตราการแข่งขันไม่สูง (สำหรับเกณฑ์ admission 2 ในเอกสารคะแนนสูงสุดต่ำสุด มีบอกอัตราการแข่งขันค่ะ)
เมื่อจัดแบ่งตามกลุ่มแล้ว ก็ค่อยๆ คัดคณะจากแต่ละกลุ่มมาวางเรียงตามลำดับตามตัวอย่าง รูปแบบนี้ จะเป็นการเฉลี่ยความเสี่ยง เพราะมีทั้งเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย และปลอดภัย นั่นเอง
การจัดอันดับ Admission แบบที่ 2
รูปแบบที่ 2 คือรูปแบบการเรียงลำดับที่เน้นกระจายความเสี่ยงไปทั้ง 2 เกณฑ์ อาจจะเฉลี่ยอย่างละ 5 อันดับเลยก็ได้ค่ะ แต่ในสูตรนี้ จะขอล็อกเป็นเกณฑ์ Admission 1 จำนวน 4 อันดับ และเกณฑ์ Admission 2 จำนวน 4 อันดับ โดย
2 อันดับที่เหลือ ให้หาคณะเซฟ (สำหรับตัวเอง) มาปิดท้าย
การจัดอันดับ แบบที่ 1
อันดับ 1 คณะ A เกณฑ์ Admission 1
อันดับ 2 คณะ A เกณฑ์ Admission 2
อันดับ 3 คณะ B เกณฑ์ Admission 1
อันดับ 4 คณะ B เกณฑ์ Admission 2
อันดับ 5 คณะ C เกณฑ์ Admission 1
อันดับ 6 คณะ C เกณฑ์ Admission 2
อันดับ 7 คณะ D เกณฑ์ Admission 1
อันดับ 8 คณะ D เกณฑ์ Admission 2
อันดับ 9 คณะเซฟ (เกณฑ์ใดก็ได้)
อันดับ 10 คณะเซฟ (เกณฑ์ใดก็ได้)
ข้อดีของการจัดอันดับแบบนี้คือ น้องๆ จะมีโอกาสติดในคณะที่ต้องการมากขึ้น เปรียบเสมือนเรามี 2 ชีวิตในคณะนั้นๆ ไม่ติดเกณฑ์นี้อาจจะไปติดอีกเกณฑ์นึงก็ได้ โมเดลนี้ เหมาะกับน้องๆ ที่มีคณะ/สาขาในใจ ไม่เกิน 4-5 คณะค่ะ แต่ถ้ามากกว่านี้ก็อาจจะไปผสมกับการจัดอันดับในรูปแบบที่ 1 ก็ได้
หวังว่าแนวทางการจัดอันดับทั้ง 2 รูปแบบจะช่วยน้องๆ ในการตัดสินใจเลือกคณะมากยิ่งขึ้นนะคะ พี่มิ้นท์ขอย้ำน้องๆ ว่าในการเลือกคณะ มีสิ่งสำคัญอยู่ 3 อย่าง คือ
1. สำรวจตัวเอง อยากเรียนที่ไหนที่สุด ตอบตัวเองให้ได้
2. สำรวจคณะ/สาขา เรามีคุณสมบัติครบหรือไม่ ทั้งเกรด คะแนนสอบ และสุดท้าย
3. สำรวจสาขา/อันดับที่ได้ทำการเลือกไป มีจุดไหนที่เราไม่สบายใจหรือไม่ ถ้ามีลองหาคณะที่มั่นใจมาวางแทน เพราะปีนี้น้องๆ สามารถเลือกได้สูงสุดถึง 10 อันดับ ซึ่งมากที่สุดตั้งแต่เคยมีระบบ TCAS มาเลย ดังนั้น พี่มิ้นท์มั่นใจว่า ปีนี้น้องๆ ทุกคนจะต้องได้เรียนในคณะที่ต้องการอย่างแน่นอนค่ะ^^
[source : Dek-D https://www.dek-d.com/tcas/57700/]
พี่ กระจก
mentor
พี่ที่แสน perfect ของทาง mega ที่คอยอัพเดตข่าวสารใหม่ ๆ ให้น้องๆไม่ตกเทรน ได้ถูกต้องและรวดเร็วที่สุด