เรียนพิเศษ ติวสอบ ออนไลน์ กวดวิชาติวเตอร์อันดับ 1 | Megastudy

megastudy

หาวิชาที่ต้องการค่ะ

ข้อมูลการศึกษา

คลังความรู้  บทความที่คุณต้องการทั้งหมด
รวม 12 คณะยอดฮิตที่เด็กสายศิลป์อยากเข้า พร้อมสายอาชีพที่เกี่ยวข้อง
  • พี่ กระจก
  • 07.11.2565

ทักทายน้อง ๆ สายศิลป์ ทุกคนนะค้า พี่ mega เองนะในวันนี้พี่ mega จะมาในบทความ 12 คณะยอดฮิต สำหรับ น้อง ๆ ม.ปลายสายศิลป์ ไม่ว่าจะศิลป์ภาษา หรือ ศิลป์คำนวณ  เป็น Guide แนะนำน้อง ๆ กับคณะยอดฮิตโดยเฉพาะ  ถ้าหากน้อง ๆ พร้อมกันแล้วเชิญอ่านรายละเอียดบทความด้านล่างกันได้เลย และก่อนจะไปอย่าลืมติดตามบทความดี ๆได้ที่ www.megastudyth.com น้าาา 

 

รวม 12 คณะยอดฮิตที่เด็กสายศิลป์อยากเข้า พร้อมสายอาชีพที่เกี่ยวข้อง

เมื่อขึ้นมัธยมปลายแล้ว จะเป็นช่วงเวลาที่น้องนักเรียนต้องตัดสินใจว่าตัวเองมีความชอบหรือความถนัดในด้านใด เพื่อที่จะได้เลือกเส้นทางศึกษาต่อ ซึ่งประเทศไทยมีแผนการเรียนให้เลือกหลายสาย แบ่งออกเป็น 2 สายหลักๆ คือ สายศิลป์ และสายวิทย์ เช่น สายวิทย์-คณิต สายศิลป์-คำนวณ สายศิลป์-ภาษา เป็นต้น โดยน้องๆ ควรเลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียน หรือมีความถนัด 

ดังนั้น "megastudy” จึงอยากชวนน้องๆ มาทำความรู้จักกับสายศิลป์กันก่อน มาดูกันว่าสายศิลป์มีอะไรบ้าง การเรียนสายศิลป์ภาษา หรือศิลป์คำนวณเข้าคณะอะไร และทำอาชีพอะไรได้บ้าง ก่อนตัดสินใจเลือกสายการเรียนที่จะเป็นเส้นทางการศึกษาต่อไปสู่ในระดับมหาวิทยาลัย

 

 

 

 

 

ตัวเลือกสายศิลป์มีอะไรบ้าง

แผนการเรียนสายศิลป์ที่น้องๆ เคยได้ยินบ่อยๆ รู้ไหมว่ามีตัวเลือกถึง 3 สาย ได้แก่ ศิลป์คำนวณ ศิลป์ภาษา และศิลป์สังคม ซึ่งแต่ละสายการเรียนจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีอะไรบ้างและน่าสนใจแค่ไหน มาดูกันเลย

ศิลป์คำนวณ

ศิลป์-คำนวณ เป็นแผนการเรียนสายศิลป์ที่จะเน้นวิชาภาษาอังกฤษกับวิชาคณิตศาสตร์เป็นหลัก โดยภาษาอังกฤษจะเรียนตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับยาก เริ่มต้นฝึกฝนตั้งแต่ทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และเรียนเจาะลึกถึงไวยากรณ์เลยทีเดียว ส่วนคณิตศาสตร์นั้นเป็นอีกวิชาที่ต้องเน้นเรียน เนื้อหามีระดับความยากเท่ากับสายวิทย์-คณิต ซึ่งวิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ สายศิลป์-คำนวณก็ยังมีเรียนอยู่ แต่จะไม่ได้มีชั่วโมงเรียนเยอะ และเนื้อหาไม่เข้มข้นเทียบเท่ากับที่สายวิทย์เรียนโดยตรง

ศิลป์ภาษา

ศิลป์-ภาษา แผนการเรียนสายนี้จะเน้นเรียนภาษาอังกฤษกับภาษาที่ 3 ที่น้องๆ เป็นคนเลือกเอง เช่น ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาเยอรมัน เป็นต้น โดยเรียนภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 ตั้งแต่ระดับง่ายไปจนถึงยากเช่นเดียวกันกับสายศิลป์-คำนวณ และยังต้องเรียนวิชาอื่นๆ ในระดับพื้นฐาน แต่ไม่ได้เจาะเนื้อหาแยกเป็นรายวิชาเพิ่มเติม

ศิลป์สังคม

แผนการเรียนสายศิลป์-สังคม จะเน้นเรียนหมวดวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา เนื้อหาที่เรียนครอบคลุมถึงเรื่องประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง กฎหมาย รวมถึงปรัชญา ซึ่งสายศิลป์-สังคม เป็นสายศิลป์อีกแบบที่มีเฉพาะในบางโรงเรียนเท่านั้น 


ส่อง 12 คณะน่าเรียนที่สายศิลป์สามารถเข้าได้

น้องๆ นักเรียนคงอยากรู้แล้วล่ะสิว่าเรียนสายศิลป์-ภาษา ศิลป์-คำนวณจะเข้าคณะอะไรได้บ้าง และถ้าเรียนสายศิลป์จะสามารถทำอาชีพอะไรได้บ้าง มาส่อง 12 คณะน่าเรียนสำหรับสายศิลป์ พร้อมอาชีพน่าทำหลังเรียนจบกันเถอะ

 

1. คณะนิติศาสตร์

คณะนิติศาสตร์เป็นหนึ่งในคณะที่ได้รับความนิยมสูงโดยเฉพาะในกลุ่มน้องๆ ที่มาจากแผนการเรียนสายศิลป์ โดยนิติศาสตร์จะเรียนเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้ทางด้านกฎหมาย จิตวิทยา ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยโดยเฉพาะด้านภาษาและการสื่อสาร จึงเป็นคณะที่เน้นการอ่านหนังสือเพื่อจำหลักกฎหมาย ใช้เหตุผลในการคิดวิเคราะห์ และตีความทางด้านกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ยังไม่มีการแบ่งสาขาชัดเจน แต่สามารถเลือกเรียนตามความสนใจได้ โดยทั่วไปแบ่งเป็นกฎหมายเฉพาะด้าน ดังนี้

  • สาขาวิชากฎหมายแพ่ง

  • สาขาวิชากฎหมายอาญา

  • สาขาวิชากฎหมายพาณิชย์

  • สาขาวิชากฎหมายมหาชน

  • สาขาวิชากฎหมายระหว่างประเทศ

  • สาขาวิชากฎหมายและการพัฒนาที่ยั่งยืน

อาชีพที่สามารถทำได้เมื่อจบจากคณะนิติศาสตร์

  • ผู้พิพิากษา/ตุลาการ

  • อัยการ

  • ทนายความ

  • ที่ปรึกษากฎหมาย/นิติกร

  • นักกฎหมายประจำบริษัท

  • รับราชการ


2. คณะรัฐศาสตร์

คณะรัฐศาสตร์เรียนเกี่ยวกับหลักการบริหารงานรัฐ ปรัชญาการเมืองการปกครอง รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื้อหาที่เรียนส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะสหวิทยาการ หรือการนำศาสตร์ความรู้หลายๆ ด้านมาศึกษาประกอบร่วมกัน เพื่ออธิบายสภาวะสังคมต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นคณะที่เมื่อผู้จบการศึกษาไปทำงานที่เกี่ยวข้องแล้วจะส่งผลโดยตรงต่อประเทศ มีสาขาต่างๆ ดังนี้

  • สาขาวิชาการเมืองการปกครอง

  • สาขาการระหว่างประเทศ

  • สาขาบริหารรัฐกิจ สาขารัฐประศาสนศาสตร์

  • สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

  • สาขางานยุติธรรมและความปลอดภัย

อาชีพที่สามารถทำได้เมื่อจบจากคณะรัฐศาสตร์

  • งานราชการ เช่น เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ด้านการปกครองในหน่วยราชการต่างๆ

  • งานรัฐวิสาหกิจ เช่น เจ้าหน้าที่ในตำแหน่งด้านบริหาร วางแผน จัดการข้อมูล และวิจัย

  • งานบริษัทเอกชน นำความรู้มาปรับใช้กับการทำงานได้ ส่วนมากเป็นตำแหน่งด้านการวิเคราะห์ การวางแผนนโยบายต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่ HR นักวิเคราะห์โครงการ นักวิเคราะห์ระบบงาน นักบริหารองค์การระดับสูง

 

 

3. คณะเศรษฐศาสตร์

สำหรับน้องๆ ที่มีแผนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะคนที่กำลังสงสัยว่าสายศิลป์คำนวณเข้าคณะอะไรได้บ้างนั้น คณะเศรษฐศาสตร์คงจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง โดยเป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับวิธีการจัดสรรทรัพยากร การผลิต การกระจายสินค้า และพฤติกรรมของมนุษย์ ศึกษาเนื้อหาความรู้ทั้งเศรษฐกิจมหาภาค และเศรษฐกิจจุลภาค เป็นการวิเคราะห์ภาพรวมของเศรษฐกิจตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค เพื่อหานโยบาย หาเหตุผล และคิดหาแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น คณะเศรษฐศาสตร์มีสาขาให้เลือกเรียนมากมาย ได้แก่

  • สาขาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์

  • สาขาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา

  • สาขาเศรษฐศาสตร์สาธารณะ

  • สาขาเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ / เศรษฐศาสตร์การจัดการ

  • สาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ

  • สาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร

  • สาขาเศรษฐศาสตร์การเงิน

  • สาขาเศรษฐศาสตร์การคลัง

  • สาขาเศรษฐศาสตร์การพัฒนาและวางแผน

  • สาขาเศรษฐศาสตร์แรงงานและทรัพยากรมนุษย์

  • สาขาเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม

  • สาขาเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีและการวิจัย / เศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ

อาชีพที่สามารถทำได้เมื่อจบจากคณะเศรษฐศาสตร์

  • เจ้าหน้าที่บริหารกองทุน

  • นักวิเคราะห์แผนงานธนาคาร

  • นักวิเคราะห์ตลาด

  • นักวิเคราะห์โครงการ

  • เจ้าหน้าที่ธนาคาร

  • พนักงานการเงินบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์

  • ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ / การเงิน-การลงทุน

  • พนักงานราชการ ในกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง การค้า

 

 

 

4. คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี / คณะบริหารธุรกิจ

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรือคณะบริหารธุรกิจ เป็นคณะที่มีหลักสูตรเดียวกัน เพียงแต่สถาบันแต่ละแห่งใช้ชื่อไม่เหมือนกันเท่านั้น ซึ่งจะเรียนเกี่ยวกับลักษณะธุรกิจเอกชนทุกด้าน ทั้งการบัญชีและการบริหาร โดยการบัญชีจะเรียนเนื้อหาเกี่ยวกับบัญชีต้นทุน บัญชีการเงิน บัญชีภาษีอากร และการสอบบัญชี เป็นต้น ส่วนการบริหารจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตลาด การเงิน การจัดการผลผลิต ทรัพยากรบุคคล โลจิสติกส์ และสารสนเทศ เป็นต้น โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีหรือคณะบริหารธุรกิจ จะแบ่งหลักสูตรออกเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่

หลักสูตรบัญชีบัณฑิต

  • สาขาวิชาการบัญชี

  • สาขาวิชาการต้นทุน

  • สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางการบัญชี

และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต

  • สาขาวิชาการธนาคารและการเงิน

  • สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางการจัดการ

  • สาขาวิชาการจัดการองค์การและทรัพยากรมนุษย์

  • สาขาวิชาการบริหารอุตสาหกรรมเดินทาง

  • สาขาวิชาการจัดการด้านการผลิตและการดำเนินงาน

  • สาขาวิชาการจัดการขนส่งระหว่างประเทศ

  • สาขาวิชาการตลาด

  • สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ

อาชีพที่สามารถทำได้เมื่อจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีหรือคณะบริหารธุรกิจ

  • นักบัญชี / พนักงานบัญชีในสำนักงานบัญชี

  • รับราชการ

  • พนักงานธนาคาร

  • นักวางแผนระบบบัญชี

  • ที่ปรึกษาด้านการบัญชี / ผู้ตรวจสอบบัญชี / ผู้สอบภาษี

  • นักการตลาด / นักลงทุน

  • นักธุรกิจ

  • ผู้บริหารองค์กรต่างๆ



5. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เรียนเกี่ยวกับการออกแบบกายภาพด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอาคาร สิ่งก่อสร้าง การออกแบบภายใน การปรับแต่งสภาพแวดล้อม ตลอดจนการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์การใช้งานและความสวยงามที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม วัสดุ และเทคโนโลยีก่อสร้าง เนื้อหาการเรียนจะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ศิลปะ หลักการออกแบบงานสถาปัตยกรรม ฟิสิกส์ประยุกต์ ทฤษฎีการออกแบบ เป็นต้น คณะนี้มีสาขาวิชาให้เลือกเรียน ดังต่อไปนี้

  • สาขาสถาปัตยกรรมภายใน

  • สาขาสถาปัตยกรรม

  • สาขาออกแบบอุตสาหกรรม / ศิลปอุตสาหกรรม

  • สาขาสถาปัตยกรรมไทย

  • สาขาภูมิสถาปัตย์

  • สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง

อาชีพที่สามารถทำได้เมื่อจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

  • สถาปนิก

  • ภูมิสถาปนิก

  • นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

  • นักบริหารธุรกิจ

  • นักผังเมือง

  • นักวิเคราะห์แผนและนโยบาย

  • นักออกแบบอิสระ


6. คณะสังคมสงเคราะห์

คณะสังคมสงเคราะห์ เป็นหนึ่งในคณะที่ได้รับความสนใจไม่น้อยโดยเฉพาะน้องๆ ที่มาจากแผนการเรียนสายศิลป์และกำลังมองหาคณะที่ต้องการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยสังคมสงเคราะห์จะเป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับสังคมและพฤติกรรมของมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อสร้างสังคมที่ไม่กีดกันและไม่เลือกปฏิบัติ เป็นการพัฒนาคนและสังคมอย่างยั่งยืนตามหลักความเป็นธรรม โดยเนื้อหาจะเรียนรู้ทั้งทางทฤษฎี กระบวนการ การวิจัย และการฝึกฝนการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นนักพัฒนาสังคมที่ดี พัฒนามนุษย์ให้เท่าทันและขับเคลื่อนสังคมได้ ซึ่งคณะสังคมสงเคราะห์มีสาขาที่เปิดให้เลือกเรียน ดังต่อไปนี้

  • สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์

  • สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน

  • สาขาวิชาการบริหารงานกระบวนการยุติธรรม

  • สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์

  • สาขาวิชาการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว

  • สาขาวิชาการบริหารแรงงานและสวัสดิการ

อาชีพที่สามารถทำได้เมื่อจบจากคณะสังคมสงเคราะห์

  • นักสังคมสงเคราะห์

  • นักพัฒนาสังคมและชุมชน

  • นักทัณฑวิทยา

  • พัฒนากร

  • รับราชการ

  • นักจัดการรายกรณี (Case Manager)

  • เจ้าหน้าที่คุ้มครองสิทธิ

  • นักวิเคราะห์นโยบายและแผน

  • เจ้าหน้าที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์


7. คณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์

คณะครุศาสตร์ หรือคณะศึกษาศาสตร์ จะเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนและการสอนของมนุษย์ เรียนตั้งแต่เนื้อหาที่จะนำไปสอน การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ การพัฒนาการศึกษา จิตวิทยาการสอน และวิธีการพัฒนามนุษย์ เป็นต้น เพื่อผลิตครูและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพ โดยมีสาขาวิชาเอกให้เลือกเรียนได้ตามความสนใจถึง 10 สาขา ได้แก่

  • สาขาการศึกษาปฐมวัย

  • สาขาประถมศึกษา

  • สาขามัธยมศึกษา

  • สาขาเทคโนโลยีการศึกษา

  • สาขาดนตรีศึกษา

  • สาขาสุขศึกษา และพลศึกษา

  • สาขาศิลปศึกษา

  • สาขาธุรกิจศึกษา

  • สาขาการศึกษานอกระบบโรงเรียน

  • สาขาจิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนว และการศึกษาพิเศษ

อาชีพที่สามารถทำได้เมื่อจบจากคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์

  • ข้าราชการครู

  • ครูโรงเรียนเอกชน

  • ครูสอนพิเศษ / ติวเตอร์

  • นักวิชาการ

  • นักพัฒนาการศึกษา

  • นักออกแบบสื่อเพื่อการเรียนการสอน



8. คณะอักษรศาสตร์ / คณะศิลปศาสตร์ / คณะมนุษยศาสตร์

คงจะถูกใจแผนกาเรียนศิลป์ภาษาไม่น้อย เพราะหากถามว่าถ้าเรียนสายศิลป์ภาษาจะสามารถเข้าคณะอะไรได้บ้างนั้น คณะอักษรศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ คงจะเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ถูกกล่าวถึง เพราะเป็นคณะที่เรียนด้านภาษาเป็นหลัก โดยจะมีความแตกต่างไปแต่ละคณะ ซึ่งคณะอักษรศาสตร์จะเรียนรวมไปถึงวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในภาษา เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวรรณคดีที่สะท้อนให้เห็นค่านิยมของภาษานั้น คณะศิลปศาสตร์จะเรียนเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปและทักษะเชิงปัญญา เป็นการผสมผสานศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ เพื่อช่วยให้การเรียนรู้ด้านนี้มีความทันสมัยมากขึ้น และคณะมนุษยศาสตร์จะเรียนเกี่ยวกับสภาวะของมนุษย์ ผ่านการศึกษาด้านวรรณคดี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา ทัศนศิลป์ และศิลปะการแสดง เป็นต้น คณะเหล่านี้มีการเรียนเจาะลึกแยกย่อยไปแต่ละสาขาวิชา ดังต่อไปนี้

  • สาขาวิชาจิตวิทยา

  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์

  • สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา

  • สาขาวิชาวรรณคดี

  • สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา

  • สาขาวิชาภาษาไทย

  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ

  • สาขาวิชาภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส ภาษารัสเซีย

  • สาขาวิชาภาษาตะวันออก เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี

อาชีพที่สามารถทำได้เมื่อจบจากคณะอักษรศาสตร์ / คณะศิลปศาสตร์ / คณะมนุษยศาสตร์

  • รับราชการในหน่วยงานต่างๆ

  • นักเขียน / นักแปล / ล่าม

  • งานด้านสื่อมวลชน เช่น นักเขียนข่าว สารคดี

  • งานด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ พนักงานต้อนรับในโรงแรม

  • งานด้านสำนักงาน เช่น เลขานุการ HR ประชาสัมพันธ์

  • งานด้านสายการบิน เช่น แอร์โฮสเตส สจ๊วต

  • เจ้าหน้าที่ในองค์กรระหว่างประเทศ

  • อาจารย์ คุณครู

  • นักวิชาการ / นักวิจัย


9. คณะนิเทศศาสตร์ / คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

คณะนิเทศศาสตร์หรือคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน จะเรียนเกี่ยวกับศาสตร์ที่ว่าด้วยศิลปะการสื่อสารทุกประเภท ทุกระดับ เพื่อให้การสื่อสารของมนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเต็มที่ คณะนี้มีสาขาวิชาที่เปิดสอน 6 สาขา ได้แก่

  • สาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์

  • สาขาวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย

  • สาขาวิชาโฆษณา

  • สาขาวิชาประชาสัมพันธ์

  • สาขาวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์

  • สาขาวิชาบริหารการสื่อสาร

อาชีพที่สามารถทำได้เมื่อจบจากคณะคณะนิเทศศาสตร์ / คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

  • นักข่าว / ผู้สื่อข่าว (หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์)

  • กองบรรณาธิการ

  • นักเขียน / คอลัมนิสต์

  • นักประชาสัมพันธ์

  • นักวิจารณ์

  • ผู้ผลิตรายการวิทยุ / โทรทัศน์

  • ช่างภาพ

  • ผู้กำกับแสง สี เสียง และการแสดง

  • นักเขียนบท (Script Writer)

  • นักออกแบบสิ่งพิมพ์

  • นักหนังสือพิมพ์

10. คณะศิลปกรรมศาสตร์

ศิลปกรรมศาสตร์ เป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับศิลปะ และประยุกต์ศิลป์ โดยเนื้อหาจะเรียนทฤษฎี ประวัติ เทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะต่างๆ เพื่อนำความรู้มาประยุกต์ใช้ และอนุรักษ์ศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงการสร้างสรรค์ศิลปะรูปแบบใหม่ๆ ให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สาขาวิชาของคณะศิลปกรรมศาสตร์มีดังต่อไปนี้

  • สาขาทัศนศิลป์ / จิตรกรรม

  • สาขาประติมากรรม

  • สาขาดุริยางคศิลป์

  • สาขานาฏยศิลป์

  • สาขานฤมิตศิลป์

  • สาขาการออกแบบแฟชั่น

  • สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์

  • สาขาการแสดงและกำกับการแสดง

  • สาขาการออกแบบสื่อสาร

  • สาขาศิลปะเครื่องประดับ

อาชีพที่สามารถทำได้เมื่อจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์

  • ศิลปิน / นักแสดง

  • ผู้กำกับศิลป์

  • นักเขียนบท

  • สไตล์ลิสต์

  • พิธีกร

  • กราฟิกดีไซน์

  • นักออกแบบต่างๆ

  • นักพัฒนาผลิตภัณฑ์

  • นักวิจัย และวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์

 

 

11. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ

ไม่ใช่แค่คณะสายวิทย์-คณิตเท่านั้นแต่คณะเทคโนโยสารสนเทศยังเป็นคณะที่น้องๆ แผนกาเรียสายศิลป์ตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อ โดบคณะเทคโนโลยีสารสนเทศจะเรียนเกี่ยวกับทางด้านระบบและเทคโนโลยีสารสนเทศเบื้องต้น การเขียนโปรแกรม การเรียนทางด้านกราฟิก และศาสตร์อื่นๆ ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน เช่น ระบบเครือข่ายเชิงประยุกต์ การบริหารการจัดการโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งภายในและภายนอกองค์กร การตลาดด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งมีสาขาต่างๆ ดังนี้

  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์

  • สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ

  • สาขาวิชาสารสนเทศการแพทย์

  • สาขาวิชาเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ

  • สาขาวิชาวิศวกรรมนวัตกรรมคอมพิวเตอร์

  • สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

  • สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

  • สาขาวิชาวิศวกรรมเครือข่ายและความปลอดภัย

  • สาขาวิชากราฟิกดีไซน์

  • สาขาวิชาแอนิเมชันและมัลติมีเดีย

อาชีพที่สามารถทำได้เมื่อจบจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ

  • นักโปรแกรมคอมพิวเตอร์

  • นักพัฒนาเว็บไซต์

  • ผู้ทดสอบโปรแกรม

  • นักวิเคราะห์ระบบ

  • นักออกแบบสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์

  • นักออกแบบ / พัฒนาระบบเครือข่าย

  • ผู้ดูแลระบบเครือข่าย

  • นักพัฒนาเกม

  • นักออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์

  • นักออกแบบ UI / UX

  • นักผลิตสื่อดิจิทัล

  • นักวิเคราะห์ความปลอดภัยด้านไอที

  • SEO (Search Engine Optimization) Analysis

  • นักพัฒนาฐานข้อมูล 

12. คณะจิตวิทยา

คณะจิตวิทยาจะเรียนเกี่ยวกับการศึกษากระบวนการของจิตใจ ที่ส่งผลต่อความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหาที่เรียนเกี่ยวข้องกับ การรับรู้ของมนุษย์ อารมณ์ บุคลิกภาพ พฤติกรรม และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นคณะที่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้กับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันได้ มีสาขาวิชาให้เลือกเรียน 10 สาขา

  • จิตวิทยาทั่วไป

  • จิตวิทยาการศึกษา

  • จิตวิทยาพัฒนาการ

  • จิตวิทยาสังคม

  • จิตวิทยาอุตสาหกรรม และองค์การ

  • จิตวิทยาการทดลอง

  • จิตวิทยาคลินิก

  • จิตวิทยาชุมชน

  • จิตวิทยาการปรึกษา

  • จิตวิทยาการแนะแนว

อาชีพที่สามารถทำได้เมื่อจบจากคณะจิตวิทยา

  • นักจิตวิทยาในโรงพยาบาล / บริษัทเอกชน / โรงเรียน

  • นักจิตวิทยาอุตสาหกรรม

  • งานด้านฝ่านบุคคล เช่น HR

  • งานด้านบริการมนุษย์ และสังคม เช่น แนะแนวในสถานศึกษา

  • นักกระตุ้นพัฒนาการ

  • นักจิตวิทยาการปรึกษา

  • นักจิตวิทยาบำบัด

  • นักสังคมสงเคราะห์

  • นักวิชาการ / นักวิจัย

เลือกสายการเรียนอย่างไร ให้ตรงกับใจเรา

การเลือกสายการเรียนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเรียนสายศิลป์ หรือสายวิทย์ ก็ควรเลือกสายการเรียนให้ตรงกับใจของน้องนักเรียนเอง เพราะเป็นสิ่งที่กำหนดเส้นทางการศึกษาต่อในอนาคต สำหรับน้องๆ ที่ยังไม่รู้ว่า ควรเลือกเรียนต่อคณะอะไรดี? ลองตอบคำถามเหล่านี้เพื่อหาสายการเรียนให้ตรงใจมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น

  • วิชาอะไรที่ชอบ? เพราะการได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบจะทำให้มีความสุขไปกับการเรียน ไม่มีความรู้สึกกดดัน และไม่รู้สึกว่าหนักหรือเหนื่อยอีกด้วย จึงควรเลือกสายการเรียนที่เน้นวิชาที่ชอบเป็นหลัก

  • วิชาอะไรที่ทำคะแนนได้ดี? หากทำคะแนนวิชาอะไรได้ดี ก็แสดงว่ามีความสามารถทางด้านนั้น การเลือกสายการเรียนที่มีวิชาที่ถนัดเป็นวิชาหลัก ก็เป็นวิธีหนึ่งในการตัดสินใจเลือกสายการเรียนได้

  • คณะอะไรที่อยากเข้า? การมีคณะที่อยากเข้าอยู่แล้วในใจ จะช่วยให้เลือกสายการเรียนง่ายขึ้นทันที ศึกษาข้อมูลของคณะที่อยากเข้าว่ามีความเกี่ยวข้องกับสายอะไร หรือเปิดรับสมัครนักเรียนในแผนการเรียนสายอะไรบ้าง ก็จะช่วยให้เลือกสายการเรียนได้ตรงใจมากที่สุด ทั้งยังเป็นการวางแผนการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย


สำหรับน้องๆ ที่กำลังจะขึ้นมัธยมปลาย ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องเลือกสายในการเรียนต่อนั้น ระบบการศึกษาของไทยนั้นจะมีแผนการเรียนให้เลือกหลักๆ 2 สายคือ สายวิทย์-คณิต และสายศิลป์ แน่นอนว่าหลายคนที่อยากเรียนสายศิลป์อาจมีความลังเล

และสงสัยว่า เรียนสายศิลป์ภาษาเข้าคณะอะไรได้บ้าง หรือเรียนศิลป์คํานวณเข้าคณะอะไรได้บ้าง รวมถึงสงสัยว่าจบมาแล้วจะทำอาชีพอะไรได้บ้าง บทความนี้คงช่วยตอบคำถามที่สงสัยได้แล้ว ที่นี้น้องๆ ก็ต้องตัดสินใจว่าตัวเองชอบอะไรกันแน่

แล้วเลือกสายที่ชอบและถนัดเลย

 

 

พี่ กระจก
mentor

พี่ที่แสน perfect ของทาง mega ที่คอยอัพเดตข่าวสารใหม่ ๆ ให้น้องๆไม่ตกเทรน ได้ถูกต้องและรวดเร็วที่สุด

  • #TCAS
  • #TGAT
  • #TPAT1
  • #TPAT3
  • #เตรียมสอบ
  • #สายวิทย์
  • #สายศิลป์
prev #DEK66 ! นับถอยหลัง
next A-Level ใน TCAS66 สอบอะไรบ้าง? ขอสอบเป็นแบบไหน?

หลักสูตร