เรียนพิเศษ ติวสอบ ออนไลน์ กวดวิชาติวเตอร์อันดับ 1 | Megastudy

megastudy

หาวิชาที่ต้องการค่ะ

ข้อมูลการศึกษา

ข้อมูลการศึกษา

9 วิธีรับมือ ม.6 ต้องอยู่รอด + สอบให้ติด ในยุค COVID-19

17.05.2564 611

 

"กลับมาเรียนออนไลน์อีกครั้ง" คงเป็นสถานการณ์ที่มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แต่ ม.6 คงจะไม่ชอบกันสักเท่าไหร่ เพราะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ใกล้สอบเข้ามหาวิทยาลัยเต็มที เรียนก็ยังไม่จบ เกรดก็ไม่รู้จะเป็นยังไง การสอบจะเลื่อนหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ใจ  

 

จากสถานการณ์โควิด-19 ในปีที่แล้ว พี่ๆ #dek63 ของเราเป็นรุ่นแรกที่มีประสบการณ์โดยตรง ถูกยกเลิกการสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัย แต่สำหรับ #dek64 ได้รับผลกระทบมากกว่านั้น เพราะต้องเรียนออนไลน์กันตั้งแต่เปิดเทอมแรก จนปัจจุบันกลับมาได้รับผลกระทบอีกครั้ง ต้องปรับตัวอย่างไร และต้องทำอะไรในช่วงเวลาที่เหลือ ก่อนถึงเวลาการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไปดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ

 

 

แนวทางเรียน สอบเข้ามหาวิทยาลัย ยุคโควิด-19 #ม.6ต้องรอด​

 

 

1. เรียนออนไลน์ อย่าหมดไฟ

ปรับตัวกันไปตั้งแต่เปิดเทอม ม.6 แล้ว แต่การเรียนออนไลน์ในโค้งสุดท้ายก่อนจบ ม.6 แบบนี้ ไม่เหมือนกับช่วงเปิดเทอมแน่นอนค่ะ เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไป หมายถึงการสอบที่จะเข้าใกล้เข้ามาทุกที ดังนั้น สมาธิต้องจดจ่อกับการเรียนและการอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้น

 

พี่มิ้นท์มักได้ยินจากน้องๆ บ่อยมาก ที่บ้านไม่เหมาะกับการเรียน โต๊ะไม่สะดวก คอมก็ไม่ดี อินเทอร์เน็ตก็ไม่เสถียร บรรยากาศก็น่านอน มีสิ่งที่รบกวนเยอะมาก นี่แหละค่ะ คือสิ่งที่น้องๆ ต้องปรับตัว อย่าให้สิ่งรอบตัวมาเป็นอุปสรรค ไม่ใช่แค่เพื่อการเรียนในช่วงนี้ ในอนาคตไม่รู้ว่าโรคนี้จะอยู่กับเรานานแค่ไหน ดังนั้น ลองจัดโต๊ะ เปลี่ยนไฟ ซื้อโคมไฟใหม่ ทำสภาพแวดล้อมให้น่านั่งเรียนหรืออ่านหนังสือ เราจะได้มีสมาธิมากขึ้น  

 

และแน่นอนว่า การเรียนอยู่บ้านคนเดียวมันน่าเบื่อ ก็อย่าลืมหากิจกรรมหรือพักผ่อนระหว่างหมดคาบ เพื่อเติมพลังงานให้ตัวเองด้วยนะคะ จะได้ไม่หมดไฟไปเสียก่อน


2. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

เรียนที่โรงเรียน เรามีเพื่อนๆ ให้ถาม ไม่รู้อะไรก็ไปยืมหนังสือในห้องสมุดโรงเรียนก็ได้ แต่ตอนนี้ทุกคนอยู่บ้าน อยู่ในสภาพแวดล้อมของตัวเอง อย่าจมอยู่กับความไม่รู้ค่ะ

 

ช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ฝึกการหาข้อมูลโดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหลัก และถ้าติดขัด อยากรู้อะไรเพิ่มเติม ควรถามอาจารย์ อย่าปล่อยให้ความไม่รู้ ค้างคาในใจเราค่ะ อีกทั้งการบ้านต่างๆ จากที่เคยส่งเป็นสมุด อาจารย์อาจเปลี่ยนรูปแบบให้ส่งเป็นรายงานหรือวิธีอื่นๆ ก็ต้องปรับตัวและใช้เทคโนโลยีต่างๆ ให้คล่อง ส่งงานให้ครบ ตรงตามเวลาด้วยนะคะ

 

3. รู้ช่องทางติดต่อโรงเรียน เมื่อมีเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

หนึ่งปัญหาที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ก็คือ การขอเอกสารราชการจากทางโรงเรียน แต่ปัญหาคือ ช่วงที่โรงเรียนปิดอยู่นี้ ถ้าต้องใช้เอกสารด่วน จะติดต่ออย่างไร บางคนจะอ้างว่าโรงเรียนปิดทำการก็ไม่ถูกนะคะ เพราะเจ้าหน้าที่โรงเรียนก็ยังทำงานกันอยู่ ดังนั้น สอบถามอาจารย์ไว้ล่วงหน้าว่า ต้องการเอกสาร ปพ.1 ปพ.7 หรือเอกสารรับรองต่างๆ ที่ต้องออกจากทางโรงเรียน จะต้องติดต่อใคร วิธีไหน ไม่ใช่ว่ารับตรงจะหมดเขตรับสมัครพรุ่งนี้ วันนี้เพิ่งติดต่อโรงเรียน แบบนี้ไม่มีทางทันแน่นอน

 

4. การเตรียม portfolio ออนไลน์

ในรอบ Portfolio มหาวิทยาลัยที่ต้องจัดส่ง Portfolio ในรูปแบบเล่มหรือ CD เริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาให้ส่งแบบออนไลน์แล้วนะคะ ยกตัวอย่างเช่น มศว ปรับมาให้เป็นการส่งออนไลน์ผ่านระบบของมหาวิทยาลัย มีรายละเอียดชัดเจน น้องๆ มีหน้าที่ทำตามให้ถูกต้อง หากใครทำเป็นเล่มมาแล้ว และไม่มีไฟล์อยู่ในเครื่องเลย ให้ถ่ายรูปหรือสแกน แล้วแปลงไฟล์เป็น .PDF ค่ะ  

 

ใครที่ยังไม่ลงมือทำเลย แนะนำให้ทำพอร์ตฟอลิโอผ่าน Microsoft Word หรือ Microsoft Powerpoint (แล้วแต่ถนัด) จากนั้นเมื่อทำเสร็จ ขั้นตอนของการ Save ให้เลือก Save เป็นไฟล์ .PDF จะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดค่ะ

 

 


 

ตัวอย่างการเปลี่ยนรูปแบบการส่ง PORTFOLIO มศว เป็นแบบออนไลน์

 

5. ติดตามข่าวให้มากกว่าเดิม

ปกติก็เป็นเรื่องที่เด็ก ม.6 ต้องทำอยู่แล้ว แต่สถานการณ์มันเปลี่ยนไปค่ะ แทนที่จะติดตามว่ามหา'ลัยจะเปิดรับเมื่อไหร่ กลายเป็นว่าต้องติดตามว่าที่ไหนจะเลื่อนหรือขยายเวลารับสมัคร ยกเลิกการสอบ หรือ เปลี่ยนรูปแบบการยื่น portfolio หรือเปล่า ใครที่ติดตามสม่ำเสมออยู่แล้วก็ทำต่อไป ใครที่ฝากชีวิตไว้กับเพื่อนอย่างเดียว ต้องเปลี่ยนตัวเอง มาตามข่าวเองบ้างนะคะ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง และยิ่งเป็นยุคของโซเชียลมีเดีย ข้อมูลไหลเร็วมากๆ ค่ะ คนที่ตามข่าวทัน คือ คนที่อยู่รอด!

 

มาเช็กลิสต์กันว่าเราสามารถตามข่าวได้จากที่ไหนบ้าง

 

● เว็บไซต์รับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัย

​ Fanpage Facebook ของมหาวิทยาลัย / คณะ / สาขา / ฝ่ายรับเข้า ถ้าเป็นไปได้ ตามให้ครบทุกสังกัดเลยค่ะ พี่มิ้นท์เคยเจอว่า บางมหาวิทยาลัย แฟนเพจมหาวิทยาลัยไม่มีข่าวเลย แต่แฟนเพจของสาขาอัปเดตข่าวเยอะมากกก

​ เว็บไซต์ mytcas.com เป็นเว็บไซต์ของ ทปอ. ค่ะ ไว้ตามข่าวสารเกี่ยวกับ TCAS64

​ เว็บไซต์ https://www.niets.or.th/ เว็บไซต์ สทศ. ไว้ตามข่าวการสอบต่างๆ GAT/PAT, วิชาสามัญ, O-NET

​ เว็บไซต์ www.dek-d.com ก็คือเว็บนี้นี่เอง พี่ๆ ทีมงานจะติดตามข่าวสารให้ทุกวันค่ะ นอกจากนี้ยังมีแฟนเพจ "Dek-D's TCAS สอบติดไปด้วยกัน" และ Application "เด็กดี TCAS" ด้วยจ้า

 

6. รักษาสุขภาพทั้งกายและใจ

หลายคนต้องอยู่บ้านเรียนออนไลน์คนเดียว ก็จะรู้สึกเหงาและเบื่อ อย่าลืมหาอะไรทำแก้เบื่อด้วยนะคะ เพราะบางคนไม่ชินกับการต้องอยู่ติดบ้านไม่เจอใคร อาจทำให้ซึมๆ เศร้าๆ ได้ นอกจากเรื่องจิตใจแล้ว สุขภาพร่างกายก็สำคัญค่ะ แม้ว่าอยู่บ้านได้พักผ่อนมากขึ้น แต่เราต้องใช้สายตามากขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดตา แสบตา ปวดหัว ได้เช่นกัน ลองหาแว่นกรองแสงมาใส่ ก็ช่วยถนอมสายตาได้ค่ะ

 

7. ระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่าย

ไม่มีค่าเดินทางไปโรงเรียน แต่ก็แลกมากับค่าอินเทอร์เน็ต และค่าใช้จ่ายแฝงที่ไม่รู้ตัว เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าขนม(ระหว่างเรียน) ในบางครอบครัว ผู้ปกครอง อาจได้รับผลกระทบจาก covid-19 ด้วย ดังนั้น นอกจากการวางแผนการอ่านหนังสือแล้ว อย่าลืมดูเรื่องค่าใช้จ่ายในการสอบเข้า ยังมีอะไรที่ต้องจ่ายอีกบ้าง และจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเผื่อมีเรื่องฉุกเฉินยังไงได้บ้าง

 

8. ฝึก SKILL อื่นๆ ที่มีประโยชน์

การเรียนออนไลน์ ช่วยลดเวลาในการเดินทาง ทุกคนจะมีเวลาเพิ่มขึ้น แนะนำให้ลองหากิจกรรม หรือ ฝึกทักษะอื่นๆ เพิ่มเติมจากที่เรามีอยู่ เช่น ฝึกการใช้โปรแกรมออนไลน์ ฝึกวาดรูป ทำงานประดิษฐ์ เขียนบทความ ทำอาหาร ฯลฯ ที่ไม่รบกวนเวลาทำการบ้านของเรามากนัก ใครจะไปรู้ สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นความสามารถพิเศษ ที่ใช้ต่อยอดเข้ามหาวิทยาลัยในรูปแบบโควตาความสามารถพิเศษก็ได้ หรือ เป็นสิ่งที่เราสนใจจนนำไปสู่การอยากเรียนจริงจังในมหาวิทยาลัยก็ได้ค่ะ

 

9. ไม่พาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

น้องๆ ที่ตามข่าวก็คงจะเห็นแล้วว่า ตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เราไม่สามารถคาดเดาได้แล้วจุดไหนจะมีผู้ที่ติดเชื้ออยู่บ้าง  วิธีที่ทำให้ตัวเองปลอดภัยที่สุด ก็คือ การไม่สร้างโอกาสในการรับเชื้อ นั่นก็คือ ไม่ไปในพื้นที่ที่เสี่ยง พื้นที่แออัด หรือพื้นที่ที่มีประวัติผู้ติดเชื้อเดินทางไป หากมีความจำเป็นจริงๆ ก็อย่าลืม สวม mask, ล้างมือบ่อยๆ, พกแอลกอฮอล์ติดตัว ด้วยนะคะ

 

ไม่มีใครตอบได้่ว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่ จะได้กลับไปเรียนในห้องเรียนอีกหรือเปล่า รู้แค่ว่า เวลามันผ่านไปทุกนาที ถ้าทุกอย่างมันต้องดำเนินต่อไป เราก็ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมทุกสถานการณ์นะคะ 

 

[source : Dek-D​ https://www.dek-d.com/article/56946/​]