"TCAS คือ ระบบที่ใช้คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา”
"ระบบ TCAS ในปี 64 มีการปรับให้เหลือเพียง 4 รอบ”
สวัสดีน้อง ๆ ทุกคน วันนี้น้อง ๆ คนไหนที่กำลังสับสนอยู่ว่าการรับสมัครระบบ TCAS ในปี 64 แต่ละรอบมีความแตกต่างกันยังไง…ไม่ต้องกังวลเลย เพราะ พี่จะมาอธิบายความแตกต่างของระบบ TCAS ในปีนี้ให้น้อง ๆ ได้ฟังว่าจริง ๆ แล้วปีนี้เขามีการรับกี่รอบ แล้วในแต่ละรอบมีการรับสมัครแบบไหนบ้าง รวมถึง ถ้าน้อง ๆ คนไหนยังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะสมัครรอบไหนดี วันนี้เราจะมาดูพร้อมกันเลยว่า ในแต่ละรอบมีรอบไหนบ้างที่เหมาะกับเรา ไปดูกันเลย
TCAS64 มีรอบไหนบ้าง…
รอบ 1 แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)
"ผลงานดีมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ถ้ายังไม่มี เตรียมตอนนี้ก็ยังทัน”
เป็นการรับสมัคร และคัดเลือกตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด ขึ้นอยู่กับระเบียบการรับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เน้นการดูผลงานที่เกี่ยวข้องกับคณะนั้น ๆ รวมถึงบางคณะที่เปิดรับในรอบนี้ อาจมีการสอบวัดระดับความสามารถเพิ่มเติมจากการยื่นพอร์ต (Portfolio) ด้วย
น้อง ๆ ที่เหมาะกับรอบนี้เรียกได้ว่าเป็น "สายกิจกรรม” ก็ได้ โดยกิจกรรมในที่นี้มีหลากหลายรูปแบบมาก พี่ขอแบ่งผลงานออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ
● ประเภทที่ 1 ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย อาจเป็นผลงานที่เคยส่งประกวด หรือผลงานการแข่งขัน การสอบต่าง ๆ ที่เป็นระดับประเทศ หรือจังหวัด ในทุก ๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับทางคณะนั้น ๆ
● ประเภทที่ 2 กิจกรรมที่น้องเคยทำที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นผลงานด้านการเป็นผู้นำ การแข่งขันภายในโรงเรียน แต่ขอแนะนำว่าให้เลือกเฉพาะกิจกรรมที่มีผลงานโดดเด่น และควรเลือกผลงานที่เกี่ยวข้องกับสายคณะที่น้อง ๆ เลือกเท่านั้น
● ประเภทที่ 3 เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย หรือคณะโดยตรง น้อง ๆ คนไหนที่เคยมีผลงานที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย หรือคณะที่น้อง ๆ ต้องการยื่นพอร์ต (Portfolio) เข้าโดยตรง บอกเลยว่าห้ามพลาดที่จะใส่ลงไป เช่น การเข้าค่าย การเข้าฟังแนะแนว การไปร่วมกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นโดยคณะ หรือมหาวิทยาลัยนั้น ๆ แนะนำให้น้อง ๆ ถ่ายรูปเก็บไว้ เพื่อนำมาประกอบในพอร์ต (Portfolio) เราด้วยนั่นเอง
ในกรณีที่น้อง ๆ ยังไม่ค่อยมีผลงาน หรือผลงานยังไม่เยอะ แล้วยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ทำให้ไปเข้าร่วมกิจกรรมได้ยาก พี่แนะนำให้ลองดูบทความ "กักตัวยังไงให้มีพอร์ต” เพื่อเป็นแนวทางในการทำผลงานใส่พอร์ตให้น้อง ๆ ได้เลย
รอบ 2 โควตา (Quota)
"ไม่ใช่แค่เป็นเด็กพื้นที่อย่างเดียว ยังต้องมีคุณสมบัติเฉพาะด้วยนะ”
ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติ / ความสามารถ / หรือข้อกำหนดในแต่ละโควตา เช่น โควตาจังหวัด โควตาโรงเรียนในเขตพื้นที่ รวมถึง โควตาความสามารถพิเศษที่เป็นที่ต้องการของคณะนั้น ๆ ในรอบนี้สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่รักษาเกรดไว้ในระดับที่ดี จะช่วยให้น้อง ๆ มีเปอร์เซ็นต์การติดมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าน้อง ๆ คนไหนตัดใจเรื่องเกรดไปแล้ว ก็ยังมีอีกหลายโควตาที่น้อง ๆ สามารถผ่านเกณฑ์การรับสมัครได้ และที่สำคัญ บางโควตายังมีทุนสนับสนุนให้น้อง ๆ อีกด้วย แนะนำให้ลองสอบถามทางโรงเรียน หรือคุณครูแนะแนวได้เลย
น้อง ๆ ที่เหมาะกับรอบนี้คงหนีไม่พ้นคำว่า "เด็กพื้นที่” แต่ก็ขึ้นอยู่กับระเบียบการโควตาในการรับสมัครด้วย เพราะนอกจากได้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดแล้ว ยังมีคุณสมบัติเฉพาะอีกมากมาย เช่น เกณฑ์คะแนนสอบ หรือความสามารถต่าง ๆ เพื่อเป็นการหาผู้ที่เหมาะสมกับการเป็นเด็กโควตามากที่สุดนั่นเอง
รอบ 3 แอดมิชชั่น (Admission)
"ผ่านการวางแผนจัดอันดับ เทียบคะแนนสูง – ต่ำ เพื่อดูความเป็นไปได้”
เป็นการรับสมัครแบบมีเกณฑ์กำหนดคะแนน / คุณสมบัติ ที่ตายตัว มีการเรียงคะแนน ถ้าคะแนนสูงก็จะมีสิทธิ์ในการเข้าในคณะ และมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้มากกว่า ในรอบนี้ น้อง ๆ จะต้องมีการวางแผนคะแนนอย่างเป็นระบบ ไม่งั้นอาจเสียเปรียบ และทำให้หลุดในคณะ หรือมหาวิทยาลัยที่หวังได้ ทางที่ดี ก่อนวางแผนจัดอันดับน้อง ๆ อย่าลืมเข้าไปเช็กคะแนนของรุ่นพี่เพื่อเป็นการประมาณเกณฑ์คะแนนของคณะนั้น ๆ ไว้ด้วย รวมถึงการเช็กเกณฑ์คะแนน และคุณสมบัติของคณะที่เปิดรับ เพื่อความปลอดภัยในการเลือกใส่ในอันดับของเรา
ในปีนี้ ได้มีการรวม Admission 1 และ Admission 2 ไว้ในรอบเดียวกัน หมายถึง ถ้าในการ Admission น้อง ๆ สามารถเลือกได้ถึง 10 อันดับ และสามารถยื่นขอประมวลผลได้ถึง 2 รอบ แต่สามารถยื่นได้เฉพาะอันดับที่เคยเลือกไปเท่านั้น และต้องทำตามเงื่อนไขของทางทปอ. นั่นเอง หรือหาดต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้จากบทความนี้เลย TCAS คืออะไร? สรุปชัดทุกประเด็น TCAS64 ปีล่าสุด
น้อง ๆ ที่เหมาะกับรอบนี้พี่ขอเรียกว่า "เด็กจัดอันดับ” เพราะน้อง ๆ ในรอบนี้ต้องผ่านการจัดอันดับอย่างเข้มข้นแน่นอน พี่เชื่อว่าน้อง ๆ ทุกคนต้องมีการวางแผน คำนวณคะแนนต่าง ๆ มาอย่างดีแน่นอน
รอบ 4 รับตรงอิสระ (Direct Admission)
เป็นการรับตรงที่ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยทั้งหมด ทั้งการเปิดรับสมัคร และเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณารับผู้เข้าเรียน ในรอบนี้จะไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่ามีมหาวิทยาลัยไหนเปิดรับบ้าง อีกทั้ง เกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยใช้พิจารณามีความหลากหลายมาก เช่น กำหนดเกณฑ์คะแนน การแสดงพอร์ต รวมถึงความสามารถพิเศษ ส่วนใหญ่รอบนี้เป็นการรับนักศึกษาเพิ่มมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่ทำการยืนยันสิทธิ์ในรอบก่อนหน้านั้นด้วยนั่นเอง ดังนั้น น้อง ๆ อย่าเพิ่งตัดใจจากเกรด คะแนนสอบ หรือไม่ทำพอร์ตเตรียมไว้นะ
น้อง ๆ ที่เหมาะกับรอบนี้ "เด็กเก็บตก” แต่ต้องบอกก่อนว่าน้อง ๆ ที่อยู่ในรอบนี้มีความท้าทายมาก เพราะถือว่าเป็นรอบสุดท้ายที่จะได้เข้าในระบบ TCAS ถึงจะไม่ได้เปิดรับในทุก ๆ คณะ หรือทุก ๆ มหาวิทยาลัย แต่อยากให้น้อง ๆ ลองหาข้อมูลคณะที่เปิดรับในรอบนี้ให้ดี ๆ เพื่อที่จะเป็นผลประโยชน์ต่ออนาคตของน้อง ๆ นั่นเอง