‘ตรีนุช’ ผุดแผน 2 ระยะรับมือเปิดเทอม เล็งเปิด ‘ครูพร้อม’ ให้ครู-น.ร.-ปชช.เรียนรู้ด้วยตนเอง
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานแถลงข่าว ศธ. เตรียมความพร้อมรับมือการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า ตามที่ ศธ.ได้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสามยังมีความรุนแรง เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ ศธ. จึงได้เตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษา โดยได้วางแผนการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 17-31 พฤษภาคม ก่อนเปิดภาคเรียน 11 วันทำการ จะเป็นการเตรียมความพร้อมของทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง โดยแบ่งจัดกิจกรรม 2 ระบบ คือ 1.เรียนผ่านออนไลน์ ขณะนี้ ศธ.เตรียมจัดทำเว็บไซต์ "ครูพร้อม” เพื่อเสริมครู นักเรียน และประชาชน ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่หน่วยงานในสังกัด ศธ.มีอยู่ ซึ่งมีข้อมูลทั้งของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แบ่งเป็นหัวข้อ-หมวดหมู่ตามความสนใจ เป็นการบูรณาการเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนทุกกลุ่ม ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง และ 2.กิจกรรมรูปแบบ Off-line การจัดกิจกรรมต่างๆ ขอให้สถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ปฏิบัติตามมาตรการของศบค.จังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า สำหรับระยะที่สอง คือการเรียนช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 วันที่ 1 มิถุนายน ให้สถานศึกษาจัดการเรียนรู้ 5 รูปแบบ คือ On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค., On-air เรียนผ่าน DLTV, On-demand เรียนผ่านแอพพลิเคชันต่างๆ, On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต, On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร ทั้งนี้ สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ ตามบริบทของตนได้ ส่วนของการอบรมพัฒนาสมรรถนะครูนั้น แต่ละหน่วยงานได้เตรียมจัดหลักสูตรอบรมให้เหมาะสม เช่น สพฐ. จัดโครงการ OBEC 2021 WEBINAR การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ยุคปกติใหม่ : มุมมองของผู้บริหาร นักวิชาการ และครู ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม ทาง OBEC CHANNEL และ สอศ.จะดำเนินการอบรมพัฒนาครู โดยเน้นเรื่องการพัฒนาสมรรถนะครู ด้วยเนื้อหาที่ทันสมัย โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ มาช่วยสนับสนุนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียนได้นำไปประกอบอาชีพ
"ศธ.ได้ถอดบทเรียนการจัดการศึกษาในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ผ่านมา มีการทบทวนและต่อยอดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 รูปแบบ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ ทั้งนี้ ดิฉันได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) วางระบบติดตามประเมินผล และรายงานผลการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะต้องไม่เป็นภาระกับสถานศึกษา และการที่โรงเรียนจะใช้รูปแบบใดในการจัดการเรียนการสอน ต้องได้รับความเห็นชอบจากศบค. จังหวัดก่อน ทั้งนี้ไม่อยากให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาและผ่านไป แต่อยากให้มองว่าภายใต้สถานการณ์นี้ให้อะไรกับสังคม ผู้เรียน และครูบ้าง และร่วมกันคิดว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ดังนั้นควรจะนำสิ่งรอบตัวมาเรียนรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจารณ์เรื่องการนำติวเตอร์เข้ามาช่วยอบรมครู น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า อาจจะเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม และเป็นเรื่องที่ทุกคนห่วงใย ซึ่งตนเข้าใจถึงความห่วงใยของทุกคน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ภาคเอกชนอาสาเข้ามาช่วยอบรมครู ศธ. จึงอยากให้เวลา 11 วัน ที่มีอยู่ ให้หน่วยงานต่างๆ มาช่วยเตรียมความพร้อมให้ครู และนักเรียน และกิจกรรมที่จัดนี้ ศธ.เป็นทางเลือกให้ครู นักเรียนเข้ามาเรียนเพิ่มเติม ไม่บังคับ ไม่มีผลในการประเมินหรือเลื่อนวิทยาฐานะครู และไม่นับเป็นวิชาหน่วยกิต
[source : MATICHON ONLINE https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2717340]