Blended Learning คืออะไร? การเรียนรู้แบบผสมผสานที่ใครๆ ก็พูดถึง
Blended Learning คืออะไร? แล้ว Hybrid Learning คืออะไรกันแน่? สองคำนี้เหมือนกันหรือไม่? ในโลกยุคปัจจุบัน จะเห็นได้ชัดเจนว่าการศึกษาสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบไปได้ตลอด ไม่ได้มีขีดจำกัดในเรื่องของสถานที่อีกต่อไป ไม่ว่จะเป็น การเรียนผ่านคอมพิวเตอร์ หรือการสอบบางวิชาก็มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบออนไลน์กันมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้พี่ๆ megastudy จะพาทุกคนมารู้จักกับการเรียนรู้แบบผสมผสานกัน
 
ทำความรู้จักกับ Blended Learning คืออะไร
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า Blended Learning มีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Hybrid Learning นั่นเอง ซึ่ง Blended Learning คือ การเรียนการสอนรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้วิธีการสอนในห้องเรียนร่วมกับการเรียนออนไลน์ เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้ได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 
โดยแนวคิดนี้นั้น ทางเฮเลน และซีแมน (Allen and Seaman. 2010 : 4) ได้อธิบายไว้ว่า Blended Learning เป็นวิธีการเรียนที่ผสมกันระหว่างการเรียนแบบเผชิญหน้า และการเรียนออนไลน์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และมีสัดส่วนการเรียนออนไลน์ประมาณ 30-70 ของเนื้อหาทั้งหมด
 
ประเภทของการเรียนรู้แบบผสมผสานที่นิยมนำมาปรับใช้
จากที่ได้รู้แล้วว่า Blended Learning คืออะไร มาลองเจาะลึกลงไปที่ประเภทของการเรียนรู้แบบผสมผสานที่นิยมใช้ในปัจจุบันกันว่า มีกี่ประเภท? มีอะไรบ้าง? ซึ่งการเรียนรู้แบบผสมผสานแบ่งออกเป็น 6 ประเภทหลักๆ คือ 
1. Face-to-face Driver Model
การเรียนการสอนรูปแบบ Face-to-face Driver เป็นการเรียนแบบเห็นหน้ากันผ่านช่องทางออนไลน์ แต่จะมีลักษณะการสอนคล้ายกับการเรียนในห้องเรียน มีการกำหนดเกณฑ์ หลักสูตร และหัวข้อในการสอนแต่ละครั้งเหมือนกับการเรียนในห้องเรียน
2. Flipped Model
การเรียนการสอนรูปแบบ Flipped Model เป็นการเรียนการสอนที่คล้ายกับรูปแบบ Face-to-face Driver แต่แตกต่างกัน คือ วิธีการเรียนจะกลับกัน เดิมแบบ Face-to-face Driver ผู้สอนจะเป็นผู้เตรียมเอกสาร และเริ่มการสอน แต่ในห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom) ผู้เรียนจะต้องศึกษา ค้นหาข้อมูลคร่าวๆ ก่อน แล้วจึงนำมาสนทนาแลกเปลี่ยนกับคุณครูในแต่ละคาบเรียน 
ข้อดี ผู้เรียนจะต้องค้นหาความรู้มากกว่าการเรียนแบบปกติ ทำให้มีความรู้มากขึ้น รวมทั้งได้รู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้พัฒนาทักษะในการสื่อสาร และการแสดงความคิดเห็น
ข้อเสีย ผู้เรียนมักกังวลกับรูปแบบการเรียนนี้ เนื่องจากต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคุณครูผู้สอน อาจกลัวเรื่องความผิดพลาดของข้อมูลที่ศึกษามา
3. Enriched Virtual Model
การเรียนการสอนรูปแบบ Enriched Virtual คือ การเรียนการสอนแบบเสมือนจริง เป็นการเรียนออนไลน์ที่ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าต้องการเรียนกับคุณครูแบบเห็นหน้าผ่านทางออนไลน์ หรือว่าต้องการดูวิดีโอการสอนไปเรื่อยๆ ตามแต่ละหัวข้อ 
กล่าวโดยสรุปว่า การเรียนแบบผสมผสานรูปแบบนี้ คือ การเรียนออนไลน์แบบเสมือนจริง ผสมกับการเรียนในห้องเรียน แต่อัตราส่วนการเรียนในห้องเรียนจะน้อยกว่าปกติค่อนข้างมาก (น้อยกว่าแบบ Rotation Model ที่มีการกำหนดวันที่ต้องเข้าเรียนไว้แล้ว) 
ข้อดี ผู้เรียนมีอิสระในการตัดสินใจ สามารถเลือกเรียนแบบที่เหมาะสมกับตนเอง รวมถึง ลดความจำเป็นในการเข้าห้องเรียน 
ข้อเสีย ผู้เรียนต้องใช้ทรัพยากร และอุปกรณ์เทคโนโลยีค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเป็นการเรียนเสมือนจริง จึงแทบจะไม่มีการเข้าเรียนในห้องเรียนเลย
4. Flex Model
การเรียนการสอนรูปแบบ Flex คำว่า "Flex” แปลว่า ยืดหยุ่น ดังนั้น Blended Learning รูปแบบนี้จะเน้นที่ความยืดหยุ่นเป็นหลัก สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของผู้เรียน โดยที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามใจว่าต้องการเรียนหัวข้ออะไร เรียนเป็นส่วนตัว หรือเรียนกลุ่มย่อย ซึ่งจะเป็นรูปแบบคล้ายคลึงกับการเรียนกับติวเตอร์นั่นเอง
ข้อดี ผู้เรียนมีอิสระในการตัดสินใจ เลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเองได้ตามต้องการ 
ข้อเสีย ผู้เรียนอาจไม่รู้ว่าตนเองไม่ถนัดอะไร หรือต้องการเรียนแบบไหน ควรมีเพื่อนกลุ่มเล็กๆ เรียนด้วย หรือว่าควรเรียนส่วนตัว
5. Rotation Model
การเรียนการสอนรูปแบบ Rotation คำว่า "Rotation” แปลความหมายตรงตัวได้คำว่า หมุนเวียน ดังนั้น การเรียนแบบผสมผสานรูปแบบนี้ คือ การเรียนการสอนรูปแบบหมุนเวียน โดยผู้สอนจะใช้วิธีแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ตามความเหมาะสม 
ทั้งนี้ ผู้เรียนจะได้ตารางเข้าเรียนแบบหมุนเวียนชัดเจน คือ มีกำหนดวันที่ต้องเข้าเรียนที่โรงเรียน วันที่ต้องเข้าเรียนผ่านออนไลน์ หรือวันที่ให้ค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง
6. Online Driver Model
การเรียนการสอนรูปแบบ Online Driver เป็นการสอนผ่านช่องทางออนไลน์แบบ 100% คือ มีผู้เรียนและผู้สอนเหมือนเดิม แต่จะไม่มีการพบเจอตัวจริงกัน จะเป็นการพบกันผ่านออนไลน์นั่นเอง ซึ่งวิธีนี้จะเน้นอุปกรณ์เทคโนโลยีเป็นหลัก
ข้อดี ผู้เรียนสามารถศึกษาได้อย่างไร้พรมแดน มีอิสระ และมีการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสื่อสาร เป็นการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยี
ข้อเสีย ผู้เรียนมักถูกรบกวนจากสิ่งรอบข้าง มีอุปสรรคในเรื่องของการจัดการทรัพยากร อุปกรณ์เทคโนโลยีที่จำเป็นในการเรียน รวมทั้งมีความยากลำบากในการติดต่อกับผู้สอนแบบทันที 
 
 
การออกแบบ วางแผนการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน
สำหรับการออกแบบ และวางแผนการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานนั้น เพื่อที่จะจัดการเรียนให้มีประสิทธิภาพ จะต้องวางแผนให้ดีก่อน เนื่องจากการเรียนรู้แบบผสมผสาน จะมีวิธีการสอนที่หลากหลาย ทั้งผู้เรียนมีอิสระที่จะเลือก ไม่ว่าจะเป็นเวลา วิธีการเรียน หรือแม้แต่สถานที่ในการเรียน ดังนั้น ให้เริ่มทำตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
วิเคราะห์และวางแผนกลุ่มผู้เรียน
ก่อนอื่นต้องวิเคราะห์และวางแผนกลุ่มผู้เรียนที่ต้องการก่อน ว่าต้องการให้ผู้เรียนอยู่ในช่วงอายุประมาณเท่าไหร่ มีความรู้ระดับไหน รวมทั้งพิจารณาถึงความสามารถและความถนัดของผู้เรียนก่อน เนื่องจากกลุ่มผู้เรียนแต่ละกลุ่ม ก็จะมีความแตกต่างกันไป บางคนถนัดการเรียนแบบออนไลน์ 100% หรือบางคนอาจชอบการเรียนแบบ Rotation ที่มีการกำหนดตารางเวลาชัดเจน
กำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียน เพื่อประสิทธิภาพของการเรียน เป็นหัวใจหลักในการวางแผน เนื่องจากการตั้งเป้าหมายช่วยให้รู้ว่าโจทย์ของผู้เรียนคืออะไร คาดหวังอะไรหลังจากการเรียน เช่น คาดหวังว่านักเรียนที่เรียนจะผ่านการสอบปลายภาค ผู้สอนจะต้องกำหนดจุดประสงค์หลัก คือ ผ่านการสอบปลายภาค และควรมีวัตถุประสงค์รองอื่นๆ ตามมา เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนอีกด้วย
นอกจากนี้ ในการกำหนดวัตถุประสงค์หลัก ยังมีส่วนช่วยในการวัดประสิทธิภาพ ว่าการเรียนการสอนดังกล่าวให้ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการหรือไม่ ทำให้สามารถนำไปปรับใช้ในการวางแผนต่อๆ ไปได้
หาแนวทางในการโต้ตอบกับผู้เรียน
อีกโจทย์หนึ่งที่ต้องหาแนวทางการแก้ไขก่อนทำแผนการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน นั่นก็คือการหาแนวทางการโต้ตอบระหว่างผู้สอนและผู้เรียน เพราะการเรียนรูปแบบนี้ทำให้ผู้เรียนติดต่อสื่อสารกับผู้สอนได้ช้าลง รวมถึง อีกหนึ่งปัญหาหลักของการเรียนในไทยคือนักเรียนกลัวการที่ถามในสิ่งที่ไม่เข้าใจ และกลัวจะถูกมองว่าแปลก เป็นคนเข้าใจยาก หรือถูกผู้สอนดุ
ดังนั้น ในการเรียนการสอนรูปแบบนี้ ผู้สอนควรหาวิธีการพูดคุย สอบถามแนวคิด หรือความคิดเห็นของนักเรียนเป็นประจำ รวมถึง วางแผนการทำกิจกรรมระหว่างการเรียนการสอน หรือมอบหมายงาน เพื่อวัดความเข้าใจ และทำให้ผู้เรียนรู้สึกคุ้นเคยกับการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ในห้องเรียน เช่น การพรีเซนต์ หรือการจับกลุ่มทำงานที่ต้องแสดงความคิดเห็น เป็นต้น 
พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน
พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเป็นอีกสิ่งที่มีความสำคัญ โดยให้เริ่มจากการวางแผนองค์ประกอบการเรียนการสอน ทั้งการเลือกใช้สื่อการสอน หรือเลือกใช้ช่องทางการสอน เช่น Google Meets, Google Classroom, Skype เป็นต้น รวมถึง ให้สังเกตรูปแบบการสอนที่เลือกใช้ว่า เหมาะสมกับนักเรียน และเห็นพัฒนาการเรียนมากขึ้นหรือไม่
สำหรับการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ก็ต้องมีการวัดและประเมินผล เพื่อให้ทราบผลลัพธ์หลังจากการเรียนว่า นักเรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนหรือไม่ โดยมักใช้วิธีการทดสอบ หรือการทำควิซย่อย เพื่อเป็นการวัดความเข้าใจของนักเรียน 
สำหรับการเรียนแบบผสมผสาน ควรมีการทดสอบก่อนเรียน และหลังเรียน เพื่อช่วยให้การประเมินผลได้ข้อสรุปที่ชัดเจน สามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่อได้ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการสอนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
 
 
ข้อดีของการเรียนรู้แบบผสมผสานที่เหมาะกับเด็กยุคใหม่
หลังจากที่ได้รู้จักประเภทของการเรียนรู้แบบผสมผสานกันไปแล้ จะสังเกตได้ว่าวิธีการเรียนแบบนี้เหมาะกับเด็กยุคใหม่เป็นอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการเดินทางมาเรียนในห้องเรียน รวมถึงลักษณะของเด็กยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป มีการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ เด็กๆ จะชอบอะไรที่ไม่ซับซ้อน และเน้นไปที่ความรวดเร็ว ทำให้การเรียนรู้แบบผสมผสานได้ถูกนำมาใช้ในการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น โดยมีข้อดี ดังนี้
- ช่วยประหยัดเวลาการเดินทาง
- ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ ไร้ขอบเขต ไม่จำกัดว่าต้องเป็นการเรียนรู้ภายในห้องเรียนเท่านั้น
- ช่วยให้เด็กๆ สามารถเลือกแนวทางการศึกษาที่ตนเองถนัดได้อีกด้วย
- ช่วยให้เด็กๆ เก่งเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการใช้งานอุปกรณ์ทางคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งแท็บเล็ต หูฟัง หรือไมโครโฟน เป็นต้น
- ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง เนื่องจากการเรียนแบบผสมผสานช่วยให้นักเรียนเคยชินกับการใช้เทคโนโลยีในการค้นหาความรู้ ทำให้นักเรียนรู้จักการคิดนอกกรอบ และได้ทดลองค้นหาความรู้ใหม่ๆ ด้วยตนเอง แทนที่จะรอคุณครูสอนเพียงอย่างเดียว
การเรียนแบบผสมผสานเหมาะกับใครบ้าง
ในความเป็นจริง Blended Learning ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงวัยเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทั้งการทำงาน การเรียน หรือการอบรมต่างๆ ได้เช่นกัน
โดยการเรียนรู้แบบผสมผสานนั้น เหมาะกับเด็กยุคใหม่ที่กำลังศึกษาอยู่เป็นอย่างมาก แต่รูปแบบที่เหมาะสมอาจมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละระดับชั้นเรียน ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มตามระดับได้ ดังนี้
 
1. กลุ่มนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-ป.3) วัยนี้เพิ่งพ้นจากระดับชั้นอนุบาล ควรจัดการเรียนการสอนที่มีสื่อต่างๆ ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดิโอ โดยให้จัดการเรียนการสอนระยะสั้น เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการเรียนเป็นระยะเวลายาว
2. กลุ่มนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-ป.6) วัยนี้จะเป็นวัยที่ค่อนข้างซุกซน มีสมาธิ จดจ่อได้มากกว่าเด็กชั้นประถมต้น แต่ยังคงโฟกัสได้ค่อนข้างน้อย ดังนั้น ให้พยายามดึงสื่อต่างๆ เข้ามาประกอบการสอน
3. กลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) วัยนี้เด็กๆ สามารถเรียนออนไลน์ได้ยาวนานมากขึ้น เป็นวัยปรับตัวจากประถมปลายมาเป็นเด็กมัธยมอย่างเต็มตัว ดังนั้น การเรียนการสอนแบบผสมผสานจะยิ่งเสริมสร้างพัฒนาการ และทักษะทางคอมพิวเตอร์ได้มากยิ่งขึ้น
4. กลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6) กลุ่มนักเรียนระดับนี้จะต้องเริ่มเตรียมตัวก่อนสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิยาลัย ซึ่งในปัจจุบันมีคอร์สเรียนออนไลน์หลายอย่างมาให้น้องๆ ได้เลือก โดยแนะนำให้เลือกจากคอร์สที่ตนเองรู้สึกสนใจ หรือคอร์สที่จำเป็นต้องใช้คะแนนในการยื่นสมัครเรียน เป็นต้น
5. กลุ่มนักศึกษาระดับชั้นมหาวิทยาลัย เหมาะกับการเรียนแบบผสมผสานอย่างยิ่ง เนื่องจากในบางวิชาสามารถใช้การเรียนการสอนออนไลน์ได้แบบ 100% หรือบางวิชานั้นสามารถเรียนทฤษฎีจากออนไลน์ก่อน แล้วจึงลงมือปฏิบัติในห้องเรียน เป็นต้น
สำหรับเด็กนักเรียนที่อยู่ระดับต่ำกว่าประถมศึกษานั้น จะไม่แนะนำให้เลือกวิธีนี้ เนื่องจากการเรียนรู้แบบผสมผสาน จะต้องใช้สมาธิในการรับฟังสิ่งที่คุณครูสอนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งบรรยากาศในการเรียนก็จะแตกต่างกว่าการนั่งเรียนในห้องอย่างชัดเจน และด้วยอายุของเด็กๆ นั้น ควรที่จะได้เล่นสนุก ไปพร้อมๆ กับการเรียน มากกว่าการนั่งจดจ่อหน้าคอมพิวเตอร์นั่นเอง