กรดนิวคลีอิก ประกอบด้วยธาตุ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส พบทั้งในพืชและสัตว์ ร่างกายสามารถสร้างกรดนิวคลีอิกได้จากกรดอะมิโน และคาร์โบไฮเดรต แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก (Deoxyribonucleic acid) หรือ DNA และกรดไรโบนิวคลีอิก (Ribonucleic acid) หรือ RNA ประกอบด้วยเบสหลายชนิดคือ ไทมีน อะดีนีน ไซโตซีน กวานีน และยูราซิล
กรดนิวคลีอิกทำหน้าที่ในการเก็บ และถ่ายทอดข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต และควบคุมการสังเคราะห์โปรตีนไปทำหน้าที่ต่างๆ ในเซลล์
กรดนิวคลีอิกแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก (DNA)
ภาพ : shutterstock.com
เป็นพอลิเมอร์ที่ประกอบด้วยมอนอเมอร์ที่เรียกว่า นิวคลีโอไทด์ ซึ่งนิวคลีโอไทด์ประกอบด้วย 3 ส่วนย่อย คือ หมู่ฟอสเฟต น้ำตาลดีออกซีไรโบส และเบส 4 ชนิด ได้แก่ เบสไทมีน (T) จับกับเบสอะดีนีน (A) และเบสไซโตซีน (C) จับกับเบสกวานีน (G) โดยสายพอลิเมอร์มีลักษณะเป็นเกลียวคู่ เชื่อมกันด้วยพันธะไฮโดรเจน
2. กรดไรโบนิวคลีอิก (RNA)
เป็นพอลิเมอร์ที่มีการเชื่อมต่อนิวคลีโอไทด์ภายในสายกรดนิวคลีอิก คล้ายกับ DNA แต่โครงสร้างของ RNA ประกอบด้วยสายพอลินิวคลีโอไทด์เพียงสายเดียว องค์ประกอบเป็นน้ำตาลไรโบส แต่มีเบสยูราซิล (U) แทนเบสไทมีน (T)
ภาพ : shutterstock.com