น้องๆ หลายคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อาจกำลังสงสัย หรือลังเลใจว่าควรจะเลือกเรียนสายการเรียนไหน สายวิทย์คณิตเรียนต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง สามารถเข้าคณะไหนได้บ้าง หรือจบมาจะมีงานอะไรรองรับไหม
วันนี้ พี่ๆ megastudy มาตอบทุกข้อสงสัยให้แล้วว่า สายวิทย์คณิตต้องเรียนวิชาอะไร หรือเข้าคณะไหนได้บ้าง รวมถึง เมื่อจบไปจะทำงานอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยให้น้องๆ ได้ลองตัดสินใจดูว่า สายการเรียนนี้ตรงกับความชอบ หรือความสนใจของตัวเองหรือไม่
สายวิทย์-คณิต คือ การเรียนที่จะเน้นไปที่วิชาวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์เป็นหลัก โดยวิชาและเนื้อหาการเรียนจะคล้ายคลึงกับในระดับมัธยมตอนต้น แต่จะเจาะลึกลงไปในรายวิชาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากขึ้น นอกจากนี้ มีการเรียนในส่วนวิชาอื่นๆ ทั้งวิชาพื้นฐานตามที่กระทรวงศึกษากำหนด เช่น สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย และวิชาอื่นๆ ที่โรงเรียนกำหนด เช่น คอมพิวเตอร์ การงาน และหัตถกรรม เป็นต้น
วิชาฟิสิกส์ สายวิทย์-คณิต จะเรียนเกี่ยวกับการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ เช่น แรงและการเคลื่อนที่ โมเมนตัม สมดุลกล งานและพลังงาน
วิชาเคมี สายวิทย์-คณิต จะเรียนเกี่ยวกับสสาร เช่น สารประกอบ โครงสร้างอะตอม ตารางธาตุ โครงสร้างและปฏิกิริยาทางเคมี สมดุลเคมี แก๊สและสมบัติของแก๊ส
วิชาชีววิทยา สายวิทย์-คณิต จะเรียนเกี่ยวกับชีวิตและสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่ระบบโครงสร้าง การทำงาน จนไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต
วิชาคณิตศาสตร์ ถือเป็นอีกวิชาที่มีความสำคัญในการสอบเข้าระดับอุดมศึกษาของน้องๆ สายวิทย์-คณิต เพราะมีการสอบในข้อสอบกลาง เช่นเดียวกับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ที่จำเป็นต้องเรียนในระดับมัธยมศึกษาปลาย จะแบ่งออกเป็น 2 วิชาใหญ่ๆ ดังนี้
วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานจะเป็นวิชาที่ทุกสายการเรียน ไม่ว่าจะเป็น สายวิทย์-คณิต สายศิลป์คำนวณ สายศิลป์ภาษา หรือสายศิลป์อื่นๆ จำเป็นต้องเรียน โดยจะเรียนเกี่ยวกับการคำนวณพื้นฐาน เช่น ตรรกศาสตร์พื้นฐาน หลักการนับเบื้องต้น จำนวนจริง ลำดับและอนุกรม เลขยกกำลัง
วิชาคณิคศาสตร์เพิ่มเติม จะเป็นวิชาที่มีแค่น้องๆ ที่เรียนสายวิทย์-คณิต และสายศิลป์คำนวณเท่านั้นที่เรียน โดยจะเรียนคณิตศาสตร์เชิงลึกขึ้นกว่าพื้นฐาน ยกตัวอย่างเนื้อหาที่เรียน เช่น ฟังก์ชัน ฟังก์ชันตรีโกณมิติ เวกเตอร์ เมทริกซ์
กลุ่มวิชาพื้นฐาน จะเป็นการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานที่จำเป็นตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะมีเนื้อหาและการเรียนการสอน ที่เหมือนกันในทุกสายการเรียน นอกจากนี้ วิชาพื้นฐานบางกลุ่มสาระการเรียนรู้ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา ยังเป็นอีกกลุ่มวิชาที่น้องๆ สายวิทย์-คณิตจำเป็นต้องใช้ในการสอบข้อสอบกลาง เช่น O-NET, TGAT และ A-Level เพื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอีกด้วย โดยกลุ่มวิชาพื้นฐาน มีดังนี้
สายวิทย์-คณิตจำเป็นต้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษ โดยเนื้อหาจะเกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ (Grammar) เช่น Tenses, Phrasal Verbs, Comparative และ Superlative, Gerund และ Infinitives, Preposition ฯลฯ ซึ่งเป็นวิชาที่มีการเรียนการสอนเหมือนกันในทุกสายการเรียน
ทั้งนี้ บางโรงเรียนอาจมีการจัดการเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมอื่นๆ ให้กับนักเรียนทุกแผนการเรียน รวมถึง น้องๆ สายวิทย์-คณิต เช่น วิชาภาษาอังกฤษเพิ่มเติมที่เรียนกับคุณครูต่างชาติ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกการพูด หรือวิชาการอ่านและการเขียนภาษาอังกฤษ เพื่อเพิ่มทักษะทางภาษา และยังช่วยในการทำข้อสอบอีกด้วย
วิชาภาษาไทยที่สายวิทย์-คณิตจำเป็นต้องเรียน จะเป็นวิชาภาษาไทยพื้นฐาน ที่มีการเรียนการสอนเหมือนกันทั้งระดับชั้นมัธยมปลาย โดยจะเรียนเกี่ยวกับหลักภาษาไทย สำนวนไทย คำราชาศัพท์ ธรรมชาติและเหตุผลของภาษา ระดับของภาษา โวหารการเขียน เป็นต้น นอกจากนี้ อาจมีการเรียนอ่านจับใจความ วรรณคดีไทย หรือหนังสือนอกเวลาภาษาไทยร่วมด้วย ซึ่งจะมีความแตกต่างตามการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียน
กลุ่มวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้พื้นฐาน ที่จะมีการจัดการเรียนการสอนเหมือนกันทั้งระดับชั้นมัธยมปลาย โดยมักจะแบ่งรายละเอียดของแต่ละวิชาออกเป็นแต่ละวิชาย่อย เช่น
วิชาประวัติศาสตร์ เรียนรู้ทั้งประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์สากล เวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ อารยธรรมของโลกยุคโบราณ จนถึงเหตุการณ์สำคัญในโลก เช่น สงครามโลก สงครามเย็น เป็นต้น
วิชาพระพุทธศาสนา เรียนเกี่ยวกับหลักธรรม คำสอน ประโยชน์ของศาสนา รวมทั้งพุทธประวัติ
วิชาเศรษฐศาสตร์ เรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจทั้งของไทย และต่างประเทศ เศรษฐกิจแบบจุลภาค เศรษฐกิจแบบมหภาค ฯลฯ
วิชาภูมิศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของสถานที่ในประเทศไทย หรือต่างประเทศ รวมถึง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ทั้งนี้ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมในแต่ละโรงเรียนจะมีการเรียกชื่อ หรือออกแบบหลักสูตรที่แตกต่างกัน เพื่อให้ครอบคลุมกับหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ บางโรงเรียนอาจมีวิชาอื่นๆ ในกลุ่มสาระนี้เพิ่มเติมอีก เช่น วิชาอาเซียนศึกษา หรือ วิชาหน้าที่พลเมือง เป็นต้น
นอกจากรายวิชาที่มีการสอบในข้อสอบกลางแล้ว บางโรงเรียนอาจมีการจัดการเรียนการสอนในวิชาอื่นๆ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ หรือทักษะ ที่จำเป็นในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย หรือในการทำงาน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไปตามหลักสูตรของแต่ละโรงเรียน ยกตัวอย่างวิชาอื่นๆ ที่สายวิทย์-คณิตอาจได้เรียนในระดับชั้นมัธยมปลาย เช่น
วิชาศิลปะ จะเรียนเกี่ยวกับทักษะทางศิลปะ เช่น การวาดรูป แสงเงา หรือการลงสีภาพแบบต่างๆ และอาจเรียนเกี่ยวกับกระแสศิลปะในยุคต่างๆ ร่วมด้วย
วิชาดนตรี เรียนเกี่ยวกับดนตรีไทย และดนตรีสากล เช่น เครื่องดนตรี การรำ นาฏศิลป์ หรือวิวัฒนาการดนตรีในแต่ละช่วงสมัย
วิชาสุขศึกษา เรียนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ อนามัยต่างๆ เช่น โรคทางพันธุกรรม การสุขาภิบาลอาหาร การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
วิชาพลศึกษา เรียนกีฬาประเภทต่างๆ ทั้งในแง่กฎกติกา มารยาทการเล่น และทักษะพื้นฐานในการเล่นกีฬานั้นๆ ซึ่งกีฬาจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่หลักสูตรของแต่ละโรงเรียน เช่น วอลเลย์บอล ตะกร้อ กรีฑา บาสเกตบอล ฟันดาบ หรือลีลาศ
วิชาคอมพิวเตอร์ เรียนเกี่ยวกับการใช้ทักษะทางคอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ เช่น Excel, Photoshop, หรือโค้ด Html พื้นฐาน
หลังจากที่รู้กันไปแล้วว่า สายวิทย์-คณิตเรียนวิชาอะไรบ้าง? เชื่อว่า น้องๆ หลายคนอาจสงสัยว่า เรียนวิทย์- คณิตเข้าคณะอะไรได้บ้าง หรือจบไปสามารถทำงานอะไรได้บ้าง?
เนื่องจากสายวิทย์-คณิต ได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ทำให้สามารถเข้าศึกษาต่อในคณะหรือสาขาที่ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Science) หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (Doctor of Medicine) หรือวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Engineering) ได้ด้วย โดยตัวอย่างคณะ มีดังนี้
เชื่อว่าน้องๆ สายวิทย์-คณิตหลายคนที่อยากเป็นหมอ จะต้องรู้จักกับคณะแพทยศาสตร์อย่างแน่นอน และหากกำลังสงสัยว่า หมอเรียนอะไรบ้าง? หรือต้องเก่งวิชาไหนเป็นพิเศษ? ในการเรียนคณะจะใช้ความรู้ทางชีววิทยาเป็นหลัก เนื่องจากต้องทำความเข้าใจอวัยวะ และร่างกายของมนุษย์ เพื่อที่จะรักษามนุษย์ ซึ่งคณะนี้จะเรียน 6 ปี
คณะทันตแพทยศาสตร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ หมอฟัน เป็นการเรียนในระยะเวลา 6 ปีเท่ากับคณะแพทยศาสตร์ แต่จะเจาะไปที่การรักษาฟัน หรืออวัยวะภายในช่องปากโดยเฉพาะ โดยอาจไม่ได้ลงรายละเอียดในร่างกายส่วนอื่นมากนัก
คณะสัตวแพทยศาสตร์
สัตวแพทย์ หรือหมอรักษาสัตว์ เป็นคณะที่ใช้ระยะเวลาในการเรียน 6 ปีเท่ากับคณะแพทยศาสตร์ จะเรียนตั้งแต่อวัยวะของสัตว์ต่างๆ ระบบการทำงานของร่างกาย โดยรายวิชาจะใกล้เคียงกับของแพทยศาสตร์ แต่จะเป็นเรื่องของสัตว์ทั้งหมดนั่นเอง
อีกคณะที่สายวิทย์-คณิตสามารถเรียนได้ คือ คณะเภสัชศาสตร์ จะใช้ระยะเวลาในการเรียนทั้งหมด 6 ปี เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวยา ส่วนผสม และการคำนวณโดสยา ซึ่งจะเรียนรู้เรื่องของยาโดยละเอียด สำหรับคณะนี้ จะแบ่งการเรียนออกเป็น 2 สาขาหลัก คือ
กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม (Pharmaceutical Science) สายนี้จะเน้นไปทางอุตสาหกรรม การวิเคราะห์วิจัยตัวยา
กลุ่มวิชาบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical Care) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาคอย แนะนำยาแก่แพทย์
สหเวชศาสตร์ เป็นคณะที่ดำเนินการเรียนการสอนเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ จะเน้นไปด้านเฉพาะทางต่างๆ ตามแต่ละสาขา เช่น สาขากายภาพบำบัด ก็จะเป็นนักกายภาพบำบัด สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร ก็จะเป็นนักโภชนาการ เป็นต้น
หากน้องๆ สายวิทย์-คณิตคนไหน ชื่นชอบทะเล หรือสัตว์น้ำ จะต้องรู้จักกับคณะประมงอย่างแน่นอน หรือบางมหาวิทยาลัยอาจใช้ชื่อว่า คณะเทคโนโลยีการประมง และทรัพยากรทางน้ำ โดยภาพรวมคณะนี้จะเรียนเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ และสิ่งไม่มีชีวิตอื่นๆ ที่สามารถส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำได้ เช่น การจัดการทรัพยากรทางทะเล ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ฟาร์มสัตว์น้ำ และเทคโนโลยีการแปรรูปสัตว์น้ำ รวมถึง การพัฒนาการทำประมง เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาที่เจาะลึกจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละสาขาวิชาเอกที่เลือกเรียน
คณะวิศวกรรมศาสตร์
วิศวกรรมศาสตร์ ถือเป็นอีกหนึ่งคณะยอดฮิตของเด็กสายวิทย์-คณิต ซึ่งเป็นคณะที่เน้นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ คิดค้น พัฒนาเพื่อชีวิตของเราที่ดียิ่งขึ้น โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์แบ่งได้หลายสาขา เช่น สาขาคอมพิวเตอร์ จะเชี่ยวชาญในเรื่องของการวิเคราะห์ ออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเน้นไปทางวิทยาศาสตร์โดยชัดเจน เพราะมีทั้งการทดลอง การตั้งสมมติฐาน การสังเกตกลไกการเกิดปฏิกิริยา จนไปถึงการใช้หลักคณิตศาสตร์มาวัดค่า วัดปริมาณ และการคำนวณเพื่อความแม่นยำทางผลการทดลอง
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จะเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพร่างกายและจิตใจของนักกีฬา โดยแบ่งสาขาต่างๆ เช่น
สาขาชีวกลศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อ กระดูก เอ็น ข้อต่อ
สาขาสรีรวิทยา เรียนเกี่ยวกับการทำงานของร่างกาย ว่าอวัยวะนี้ช่วยในการออกกำลังกายอย่างไร
คณะอุตสาหกรรมเกษตรจะเรียนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรมาเข้าสู่อุตสาหกรรม การแปรรูป การบรรจุ เป็นการพัฒนาและต่อยอดผลผลิต เพื่อสร้างมูลค่าของสินค้าตัวนั้นๆ ในการเรียนจะแบ่งออกเป็นสาขา เช่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาเทคโนโลยีการบรรจุ สาขาพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร ฯลฯ
คณะวนศาสตร์ เป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับป่าไม้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรธรรมชาติ ชีววิทยาป่าไม้ และระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต รวมถึง ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยี วิศวกรรมป่าไม้ และแนวทางการอนุรักษ์ป่า
นอกจากวิชาในกลุ่มที่ใช้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในเชิงลึกแล้ว สายวิทย์-คณิตยังสามารถเข้าคณะอื่นๆ ได้อีกเช่นกัน เพราะในการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย น้องๆ สายวิทย์-คณิตจำเป็นต้องเรียนวิชาพื้นฐานอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย หรือสังคมศึกษา ร่วมด้วย โดยคณะอื่นๆ มีดังนี้
คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี หรือบางมหาวิทยาลัยอาจใช้ชื่อว่า คณะบริหารธุรกิจ เป็นคณะที่มีภาพรวมในการเรียนเน้นไปที่การคำนวณ การเงิน การบัญชี การบริหารและการจัดการ โดยมีการเรียนการสอนตั้งแต่การศึกษาลักษณะธุรกิจด้านต่างๆ การบริหารงาน สถิติและข้อมูลทางธุรกิจ ซึ่งคณะนี้มีการแบ่งหลักสูตรออกเป็น 2 แบบ คือ บัญชีบัณฑิต และบริหารธุรกิจบัณฑิต เมื่อเรียนจบไป สามารถทำงานเป็นนักบัญชี ประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจก็ได้
อีกคณะที่สายวิทย์-คณิต สามารถเลือกเรียนต่อได้ คือ คณะเศรษฐศาสตร์ จะเรียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การจัดสรรทรัพยากร การผลิตและกระจายสินค้า การแข่งขันทางเศรษฐกิจ จนถึงการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งเมื่อเรียนจบจะไม่ได้มีอาชีพที่มีคำเฉพาะ มักถูกเรียกว่า นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักวิเคราะห์ วิจัย วางแผนเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วิเคราะห์สภาวะการตลาดให้กับบริษัท
คณะนิติศาสตร์ เป็นอีกคณะที่สายวิทย์-คณิตสามารถเรียนต่อได้ โดยจะเรียนเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ประมวลกฎหมายต่างๆ ทั้งหมด เช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายมหาชนเบื้องต้น กฎหมายภาษี หลักวิชาชีพนักกฎหมาย ฯลฯ
คณะนี้จะเป็นคณะที่เน้นเกี่ยวกับการท่องจำและความเข้าใจ ข้อกฎหมาย ข้อยกเว้น หรือแม้แต่ต้องศึกษาช่องโหว่ของกฎหมาย เมื่อเรียนจบแล้วสามารถทำงานเป็นนิติกร ผู้พิพากษา ทนายความ พนักงานอัยการ
คณะรัฐศาสตร์จะเรียนเกี่ยวกับรัฐ สังคม การเมืองการปกครอง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะเป็นการเรียนเพื่อเข้าใจถึงสภาพสังคม การทำงานของรัฐ และการบริหารจัดการงานของหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งคณะรัฐศาสตร์มักแบ่งสาขาได้หลายทาง เช่น สาขาวิชาการเมืองการปกครอง สาขาการระหว่างประเทศ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นต้น เมื่อเรียนจบมักประกอบอาชีพเกี่ยวกับนักวิเคราะห์ข้อมูล การเข้ารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จะเรียนเกี่ยวกับทางด้านงานสถาปัตยกรรม ทั้งการออกแบบตัวอาคาร ออกแบบตัวเมือง ดังนั้น จะต้องมีความรู้ด้านวัสดุ การก่อสร้าง และใช้ความรู้ด้านวิศกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นการออกแบบตัวอาคาร สถานที่ที่ต้องเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับลักษณะสวยงามและเหมาะสม เช่น สาขาสถาปัตยกรรม การออกแบบผังเมือง สาขาออกแบบอุตสาหกรรม สำหรับคณะนี้จะเรียนทั้งหมดเป็นระยะเวลา 5 ปี สามารถประกอบอาชีพได้หลายอย่างทั้งสถาปนิก นักออกแบบ นักออกแบบตกแต่งภายใน เป็นต้น
นิเทศศาสตร์ คือ ศาสตร์เกี่ยวกับทางด้านศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง วิทยุกระจายเสียง การประชาสัมพันธ์ การโฆษณา เมื่อเรียนจบไป สามารถเป็นได้ทั้งผู้จัดรายการ ผู้ประกาศข่าว พิธีกร บรรณาธิการ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ผู้เขียนบทละคร
อีกคณะที่สายวิทย์-คณิตสามารถเข้าเรียนได้ คือ คณะอักษรศาสตร์ หรือ ศิลปศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามแต่มหาวิทยาลัย เช่น
คณะอักษรศาสตร์: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร
คณะศิลปศาสตร์: มหาวิทยาลัยธรรมชาติ และมหาวิทยาลัยมหิดล
คณะมนุษยศาสตร์: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ
แต่โดยภาพรวมจะเน้นเรียนเกี่ยวกับภาษา ไม่ว่าจะเป็น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอื่นๆ โดยที่ไม่ได้หยุดที่คำว่า ‘ภาษา’ เพียงอย่างเดียว ยังเรียนเจาะลึกไปถึงการศึกษาสภาพสังคมและการใช้ชีวิต วรรณคดี ปรัชญา ศาสนา และวัฒนธรรมอีกด้วย โดยอาชีพส่วนใหญ่ของคณะนี้จะมีหลากหลาย เช่น ล่าม นักเขียน นักแปล เลขานุการ มัคคุเทศน์
ใครอยากเป็นคุณครู ต้องคณะนี้เลย เป็นการเรียนเกี่ยวกับการฝึกสอน พัฒนามุ่งไปสู่การเป็นครู ทั้งการศึกษาวิชาหลักตามสาขาที่เลือก ทักษะในการจัดการการเรียนการสอน รวมทั้งการฝึกทดลองสอน ซึ่งหลักสูตรคณะนี้แบ่งได้หลายสาขา เช่น ครุศาสตร์ปฐมวัย ครุศาสตร์มัธยมศึกษา ในปัจจุบันหลักสูตรของคณะครุศาสตร์หลายๆ ที่จะเรียนทั้งหมด 4 ปี แต่ก็ยังมีบางมหาวิทยาลัยที่ยังใช้หลักสูตร 5 ปีอยู่
สรุป
จบไปแล้วกับรายละเอียดของการเรียนสายวิทย์คณิต เชื่อว่าน้องๆ คงจะเห็นภาพมากขึ้นว่าสายวิทย์คณิตเข้าคณะอะไรได้บ้าง มีเรียนวิชาอะไร และมีโอกาสทำงานอะไร การเลือกสายวิชาที่ต้องการจะเรียนถือเป็นอีกหนึ่งการตัดสินใจที่ใหญ่ในชีวิต เนื่องจากบางคณะจะมีการระบุคุณสมบัติของผู้สมัครไว้ว่าต้องเป็นนักเรียนสายวิทย์-คณิตเท่านั้น ทั้งนี้ พี่ๆ megastudy เป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนในการตัดสินใจเลือกสายการเรียนที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด เพราะทุกสายการเรียนล้วนสำคัญทั้งนั้น ส่วนใครที่อยากเตรียมความพร้อม ติวเข้มเพื่อเพิ่มคะแนนสอบ สามารถสอบถามกับพี่ๆ ทีมงาน megastudy ได้เลย