ชื่อ "ยูเรนัส” จากเทพแห่งท้องฟ้าและสรวงสวรรค์ในเทพปกรณัมกรีกโบราณ ได้แพร่หลายเป็นชื่อเรียกดาวเคราะห์ดวงนี้ในกลุ่มภาษาตะวันตก รวมถึงภาษาของประเทศส่วนหนึ่งที่เคยเป็นอาณานิคม (เช่น ယူရေနတ် "ยูเรนัต” ในภาษาพม่า Uranus ในภาษามลายู-ภาษาอินโดนีเซีย Urano ในภาษาตากาล็อก)
ขณะที่แถบเอเชียตะวันออกและเวียดนาม ใช้อักษรจีนสำหรับชื่อดาวยูเรนัสตามลักษณะของเทพยูเรนัสว่า 天王星 (แปลว่า "ดาวราชาสวรรค์”) เพียงแต่ออกเสียงแตกต่างกันในแต่ละภาษา ("เทียนหวางซิง” ในภาษาจีนกลาง "ช็อนวังซ็อง” ในภาษาเกาหลี "เท็นโนวเซย์” ในภาษาญี่ปุ่น "ซาวเทียนเวือง” ในภาษาเวียดนาม)
แถบพื้นที่ประเทศไทยและลาวในสมัยก่อนที่ดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์ยังแยกกันไม่ชัดเจน เคยนิยมใช้ชื่อ "ดาวมฤตยู/ດາວມະລຶດຕະຍູ” แต่ในปัจจุบันจะใช้ชื่อ "ดาวยูเรนัส/ດາວຢູເຣນັດ” จากบริบททางดาราศาสตร์มากกว่า
แต่ก็มีประเทศอื่นในแถบเอเชียที่เรียกชื่อดาวยูเรนัสแตกต่างออกไปทั้งในอดีตหรือปัจจุบัน อย่างทางกัมพูชา เคยเรียกดาวยูเรนัสว่า រាហុ៍ "เรีย” ซึ่งมีรากศัพท์ร่วมกับคำ "ราหู” แต่ในปัจจุบันใช้ชื่อ អ៊ុយរ៉ានុស "อุยรานุ” ตามชื่อยูเรนัส หรือทางอินเดีย ที่ในภาษาฮินดีเรียกดาวยูเรนัสว่า अरुण "อรุณ”